ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รอง หน.ปชป. และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ตั้งข้อกังขา ใบสั่งล้มประมูลสายสีส้มเพื่อใคร...."ผมไม่คิดว่าเขาจะกล้าล้มสายสีส้ม!"เป็นข่าวเกรียวกราวตั้งแต่ค่ำวานนี้ (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564) ว่าเช้าวันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2564) จะมีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพื่อพิจารณายกเลิกการประมูลที่มีการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนไปในเดือนพฤศจิกายน 2563การประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเอกชนซื้อเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) จำนวน 10 ราย มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ขอให้คณะกรรมการฯ เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินหลังจากปิดการขายเอกสาร RFP แล้ว แต่อีก 9 ราย ไม่ขอให้เปลี่ยน ซึ่งในที่สุด รฟม. ได้ยอมเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตามการร้องขอของเอกชนเพียงรายเดียวแล้วเสร็จภายในเวลา 2 สัปดาห์หลักเกณฑ์เดิมคณะกรรมการฯ จะต้องพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคของเอกชนก่อนโดยกำหนดเกณฑ์สอบผ่านไว้สูงถึง 85% หากสอบผ่านจึงจะพิจารณาข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมดีมากอยู่แล้ว แต่หลังจากปิดการขายซองประกวดราคาแล้ว รฟม. เปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่ กล่าวคือ พิจารณาความสามารถด้านเทคนิคและด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐพร้อมๆ กัน ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งอาจทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุดไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลก็ได้ ส่งผลให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนที่ผ่านมา รฟม. ได้คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ไม่เคยมีการก่อสร้างในประเทศไทยมาก่อน โดย รฟม. ไม่เคยนำความสามารถด้านเทคนิคมารวมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ แต่พิจารณาแยกกัน กล่าวคือหากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดสอบผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิค ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ ใครเสนอมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ปรากฏว่า รฟม. สามารถคัดเลือกได้ผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงและเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุด ทำให้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จมาทุกโครงการหน่วยงานอื่น เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโดยพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคก่อน หากได้คะแนนตามที่กำหนดไว้ จึงจะพิจารณาผลตอบแทน ใครให้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล ยกตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และใช้วงเงินลงทุนสูง แต่ รฟท. ก็ไม่ได้พิจารณาความสามารถด้านเทคนิครวมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ ดังเช่นที่ รฟม. กำลังทำอยู่ในขณะนี้นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่อื่นอีกหลายโครงการที่พิจารณาด้านเทคนิคก่อน หากได้คะแนนตามที่กำหนดไว้ จึงจะพิจารณาผลตอบแทน ใครให้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล เช่น โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (สายอีสาน) และหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นต้นเมื่อมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์กลางอากาศเช่นนี้ เอกชนที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมนั่นคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสได้ไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งในที่สุดศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่า รฟม.ไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในขณะนี้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นหลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการฯ และ รฟม.) ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดกำลังพิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์อยู่ตามที่ผู้บริหารของ รฟม.ได้แถลงเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ขณะนี้ รฟม.รอคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด คาดว่าจะใช้เวลาราว 2 เดือน จะได้ข้อยุติ มั่นใจว่า รฟม.จะสามารถเจรจาข้อเสนอกับเอกชนที่ยื่นประมูลทั้ง 2 รายได้เร็ว (ซื้อเอกสาร RFP 10 ราย แต่ยื่นข้อเสนอเพียง 2 ราย) และสามารถสรุปผลการคัดเลือกได้ตัวเอกชนภายในเดือนมีนาคมนี้ เพราะจะใช้เวลาพิจารณาไม่มาก เนื่องจากมีเพียง 2 ราย มั่นใจว่าจะเปิดเดินรถได้ตามเป้าหมาย”จากถ้อยแถลงของผู้บริหาร รฟม. สรุปได้ว่า การรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดไม่ทำให้การบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้รับความเสียหาย ด้วยเหตุนี้ ถามว่า แล้วทำไมจึงจะมีการประชุมในเช้าวันนี้เพื่อพิจารณายกเลิกการประมูล แล้วเปิดประมูลใหม่โดยใช้หลักเกณฑ์ใหม่ และให้ถอนอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เหตุใดจึงไม่รอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด?หากที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในเช้าวันนี้มีมติให้ยกเลิกการประมูล แล้วเปิดประมูลใหม่ ผมถือว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญชาญชัยจริงๆ แบบไม่เคยมีมาก่อน ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง