กำลังเป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ สนั่นเมือง!
กับเรื่องที่ กลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโทเทิ่ล แอคเซสคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กำลัง "ตีปี๊บ" แผนควบรวมกิจการสื่อสารครั้งประวัติศาสตร์ในบ้านเรา เพื่อหวังจะผงาดขึ้นเป็นผู้ให้บริการมือถือเบอร์ 1 ของเมืองไทย
โดยผู้บริหารทั้งสองกลุ่มรวมทั้งผู้บริหารกลุ่มเทเลนอร์ กรุ๊ป ผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค มีกำหนดจะแถลงรายละเอียดความร่วมมือในครั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 22 พ.ย.นี้
ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสข่าวกลุ่มทรูรุกคืบเข้าซื้อหุ้นใหญ่ดีแทคจากกลุ่มทุนเทเลนอร์ และมีแผนการควบรวมกิจการดีแทคนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีความชัดเจนและผู้บริหารทั้งสองกลุ่มได้ออกมาปฏิเสธมาโดยตลอด
จนกระทั่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเทเลนอร์ได้ออกคำชี้แจงยืนยันในความร่วมมือที่จะมีขึ้น โดยระบุว่า ได้มีการเจรจาความร่วมมือระหว่างทั้งสองกลุ่มในรูปแบบ Eco Partnership ซึ่งจะมีการแถลงรายละเอียดในวันจันทร์นี้ จึงทำให้ถนนทุกสายต่างพากันวิเคราะห์รูปแบบความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น พร้อมคาดการณ์หลังดีลควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว กลุ่มทรูและดีแทคจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจรเบอร์ 1 ของตลาดมือถือเมืองไทย ด้วยฐานลูกค้ากว่า 51.9 ล้านราย (เอไอเอส 43.2 ล้าน)
แต่ปัญหาที่ทุกฝ่ายพากันตั้งข้อกังขาก็คือ กลุ่มทรูภายใต้บังเหียน เจ้าสัวน้อยซีพี "ศุภชัย เจียรวนนท์" จะระดมทุนหาเม็ดเงินจากไหนนับแสนล้านมาเพื่อปีดดีลซื้อหุ้นใหญ่ 45% จากกลุ่มทุนเทเลนอร์ที่ว่านี้ คาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินไม่น้อยกว่า 7500 ล้านเหรียญ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท
เพราะลำพังกลุ่มทุน ซี.พี. ยังมีภาระที่ต้องแสวงหาเม็ดเงินกว่าแสนล้านในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.24 แสนล้านบาท โดยที่เงินลงทุนก่อสร้างโครงการนั้นส่วนหนึ่ง 97,000 ล้านบาท จะได้รับการชดเชยช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่ทางกลุ่มเองก็ต้องลงทุนกว่าแสนล้านบาทเช่นกัน
จนถึงขณะนี้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาทดังกล่าวก็ยังไม่ตกผลึก สถาบันการเงินที่จะร่วมปล่อยกู้ยังตั้งเงื่อนไขที่ทำให้การเจรจายังไม่สามารถเคลียร์หน้าเสื่อได้อย่างตัว ไหนทางกลุ่มยังจะต้องแสวงหาเม็ดเงินอีกนับหมื่นล้านเพื่อผุดโครงการ "ซุปเปอร์ทาวเวอร์ 120 ชั้น" ในโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ 140 ไร่ด้วยอีก
"ขนาดเงินจะจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ 10,000 ล้าน ทางบริษัทเอเซีย เอราวัณ บริษัทลูกที่ให้บริการรถไฟความเร็วสูงโครงการนี้ ยังต้องร้องขอแก้สัมปทาน ผ่อนจ่าย 6 ปี"
ดังน้ัน การที่กลุ่มทรูจะระดมทุนนับแสนล้านบาท เพื่อจะซื้อหุ้นใหญ่ Telenor 45% จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และยิ่งหากจะไประดมทุน ออกหุ้นกู้ใหม่ หรือกู้ยืมจากสถาบันการเงินก็เป็นเรืองที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะะกลุ่มทรูมีการใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินจนเต็มเพดานเงินกู้มานานแล้ว หากจะไประดมทุนเพิ่มทุนอีก ผู้ถือหุ้นทรูคงชีช้ำแน่ เพราะตลอด 28 ปีของการดำเนินงานก็แทบจะไม่จ่ายปันผลเขาอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ วงการสื่อสารโทรคมนาคม จึงคาดว่า “ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น น่าจะเป็นความร่วมมือด้านการใช้ทรัพย์สิน โครงข่าย-คลื่นร่วมกันเป็นหลัก”
แต่หากเส้นทางควบรวมทรู-ดีแทค เจริญรอยตามเส้นทางการควบรวมกิจการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง อย่างบริษัท สยามแมคโคร และเทสโก้สโตร์ส ที่กลุ่มซีพีเพิ่งดำเนินการควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวกันไปเมื่อเร็วๆนี้ ด้วยการตีมูลค่าทรัพย์สิน-หนี้สินเป็นมูลค่าหุ้น และดำเนินการแลกหุ้นกันแล้ว แม้จะมีความเป็นไปได้มากที่สุด
แต่แนวทางการ "ปิดดีล" ควบรวมกิจการด้วยโมเดลดังกล่าว สำหรับกลุ่มทุนเทเลนอร์ และดีแทคคงต้องคิดหนักว่า "ได้คุ้มเสีย" หรือไม่ ? เพราะก่อนหน้านั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ทางกลุ่มเทเลนอร์และดีแทค ก็เคยตัดสินใจพลาดมาแล้วหนหนึ่งจากการประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 5จี จาก กสทช.เมื่อปี 63 จนทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาโครงข่าย 5จี และต้องสูญเสียลูกค้า ไปให้คู่แข่ง AIS และ True จนสุดท้ายต้องลนลานกลับมาประมูลคลื่น 700 MHz เพื่อลุยตลาด 5จี และต้องมาเร่งขยายเครือข่ายอัดแคมเปญ "ดีแทค ดีทั่ว" เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าอยู่ในเวลานี้
หากกลุ่มทุนเทเลนอร์ตัดสินใจ "พลาด" อีก เป็นหนที่ 2 จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจกลายเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้แทนที่บริษัทจะได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ผงาดเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ก็กลับจะกลายเป็นการทำให้ลูกค้าดีแทคสูญเสียความมั่นใจจนผละออกไปจากอ้อมอก ไหลไปหาคู่แข่งอย่างเอไอเอสหนักเข้าไปอีก!
สุดท้ายอาจกลายเป็นความสูญเสียของกลุ่มทุนเทเลนอร์ที่อาจต้อง "แพ็คกระเป๋ากลับบ้าน" โดยไม่ได้อะไรกลับไป!