ไทย-ซาอุฯ เดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ พร้อมเสริมสร้างความยั่งยืนของการผลิตสินค้าเกษตรและระบบอาหาร เพื่อบรรลุเป้าหมาย Saudi Vision 2030
นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนร่วมหารือกับ Mr. Krayem S. Alenezi หัวหน้าคณะผู้แทนหอการค้ามณฑลริยาด (Riyahd Chamber) ซาอุดีอาระเบีย พร้อมคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยมี นายเสก นพไธสง รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และกรมประมง เข้าร่วมหารือ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในภาคการเกษตรของทั้งสองฝ่าย
โดยการหารือครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมประชุมขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย – ซาอุดีอาระเบีย ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การนำเข้าปุ๋ย และการผลักดันการจัดทำความร่วมมือด้านการเกษตร โดยการเยือนไทยในครั้งนี้ของภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้กลับสู่ระดับปกติโดยสมบูรณ์ เมื่อเดือนมกราคม 2565
สำหรับหอการค้ามณฑลริยาด มีความประสงค์ที่จะผลักดันความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายในลักษณะ Business to Business (B2B) เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพ ทักษะ และความชำนาญด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งเสริมให้ซาอุดีอาระเบียสามารถบรรลุเป้าหมาย Saudi Vision 2030 โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหารได้ ซึ่งซาอุดีอาระเบียแจ้งว่า ภายในปี 2573 การค้าสินค้าเกษตรและอาหารของซาอุฯ จะมีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านล้านบาท จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย รวมทั้งความสอดคล้องต่อกฎระเบียบการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ในขณะที่จะต้องปรับตัวให้เป็นไปตามกระแสโลกที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการดำเนินงานด้วยโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่มีความสมดุลกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมระบบการเกษตรของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ Saudi Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย
“กระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนของซาอุดีอาระเบียในประเด็นด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ รวมทั้งยินดีให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของทั้งสองฝ่ายต่อไป” รองปลัด สมชวน กล่าว
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 38 ของไทย คิดเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 6,836 ล้านบาท และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับซาอุดีอาระเบียมาโดยตลอด โดยสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) ข้าว สับปะรด ข้าวโพดหวาน (ซีเมย์พันธุ์แซกคาราตา) อาหารสุนัขหรือแมว จัดทำขึ้นเพื่อการขายปลีก ขนมปังกรอบ อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งที่ผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ลูกหมาก รวมทั้งเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์