“น่าแปลก! ทำไมลุกมาค้านอยู่สายเดียว ทั้งๆ ที่นายกฯ ใช้ ม.44 แก้ปัญหาสัมปทานสายสีน้ำเงินเหมือนกัน แต่กลับไม่ติดใจ ประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้มฉาวโฉ่ รึท่านส.ส.ก็ไม่ยุ่ง ครม.มุบมิบต่อสัมปทานทางด่วน 15 ปี ยังไปสนับสนุนเขาด้วยอีก แต่พอเขาใช้ ม.44 แก้สัมปทานสายสีเขียวกลับวิ่งพล่านขวางลำทันที หรือว่าทั้งหมดนี้เพราะเลือกแค่ว่าใครเป็นเจ้าของ .....”
เหลือบไปเห็นข่าว “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” วิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งขนาดใหญ่ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โพสต์ FB กรณีการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ล่าสุดที่มีความเป็นไปได้ว่า กระทรวงคมนาคมกำลังมีความพยายามจะเร่งนำผลการประมูลเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในเร็ววันนี้
โดยเจ้าตัวได้ตั้งข้อสังเกต 6 ข้อกังขา ซึ่งเคยสอบถามฝ่ายบริหาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในหลายโอกาส แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างเสียที เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาไตร่ตรองก่อนจะไฟเขียวออกไป อาทิ
1. การประมูลครั้งที่ 1 ที่ รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางครันจากเดิมที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคแล้วจึงจะพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนมาเป็นการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน
โดย รฟม.อ้างว่า เนื่องจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นผลให้ต้องใช้เกณฑ์ใหม่ แต่เกณฑ์ใหม่กลับให้คะแนนด้านเทคนิคเพียงแค่ 30% เท่านั้น ย้อนแย้งกับเหตุผลที่ รฟม.กล่าวอ้าง อีกทั้งที่ผ่านมา รฟม.ก็ใช้หลักเกณฑ์ประมูลเดิมในการประมูลรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ของตนเองมาไม่รู้กี่สาย แม้แต่สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะที่ประมูลหลังโครงการนี้
2. เหตุใด รฟม.จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่ไปเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาในการประมูลครั้งใหม่ เป็นการเอื้อประโยชน์และกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ? เพราะหาก รฟม. ไม่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง จะทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ไม่สามารถร่วมยื่นประมูลร่วมกับ ITD ได้ และหาก รฟม. ไม่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น จะทำให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง ฯ หรือ STEC ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 สามารถยื่นประมูลได้
3. การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลที่ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มยื่นประมูลได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่? และการปรับเปลี่ยนดังกล่าวยังย้อนแย้งกับการดำเนินโครงการ เพราะผู้นำกลุ่มควรเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เนื่องจากต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าตลอดสัมปทานเป็นเวลาถึง 30 ปี
4.เหตุใด รฟม. จึงพิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ทั้งๆ ที่กรรมการบริหารของ ITD ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ทำให้มีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
5.การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. เพิ่มคะแนนด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าครั้งที่ 1 เป็นการกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหรือไม่ ? ทั้งที่ การประมูลทั้ง 2 ครั้ง มีเนื้องาน แบบก่อสร้าง และเทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน
และ 6. จากการเปรียบเทียบการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ที่ทำให้รัฐต้องช่วยค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้าน ก่อให้เกิดคำถามว่า ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ ? เนื่องจากข้อเสนอของ BTSC ร่วมกับ STEC ในการประมูลครั้งที่ 1 (ซึ่งรัฐต้องช่วยค่าก่อสร้าง 9,675.42 ล้านบาท) สามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ BEM ในการประมูลครั้งที่ 2 (ซึ่งรัฐต้องช่วยค่าก่อสร้าง 78,287.95 ล้านบาท) ได้ เพราะแบบก่อสร้างเหมือนกันราคากลางในการประมูลทั้ง 2 ครั้ง เท่ากันคือ 96,012 ล้านบาท
เห็นสิ่งที่วิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งขนาดใหญ่สะท้อนออกมาข้างต้นแล้ว ก็ให้นึกเลยไปถึงเรื่องที่ “ส.ส.โจ้ - นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เพิ่งออกมาถล่ม “เจ้าสัวคีรี” ที่นำฝ่ายบริหารและพนักงานไปสักการะท่านท้าวมหาพรหม เพื่อดลบันดานให้ กทม. จ่ายหนี้ 40,000 ล้าน แก่ BTS เสียที
ก่อนที่เจ้าตัวจะร่ายยาวถึงปมหนี้ 40,000 ล้าน ของ BTS ที่ว่านี้ ซึ่งยิ่งแถลงก็ยิ่งทำให้สังคมกังขาว่า เป็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยจริงๆ หรือแค่ชะแว้ปแอบไป “รับจ๊อบ” จากใครมาหรือไม่? เพราะถ้อยแถลงของรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ออกมานั้น สื่อเขาดูกันออกว่า มี “วาระซ่อนเร้น”
มีอย่างที่ไหน ตะบี้ตะบันค้านอยู่แค่การขยายสัมปทานสายสีเขียวอยู่สายเดียว ทั้งที่นายกฯ เขาออก ม.44 แก้ไขปัญหาทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบให้สัมปทาน 30 ปี ให้แก่บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ไป แถมยังขยายสัมปทานสายสีน้ำเงินเดิมพ่วงให้ไปอีก 20 ปี แต่ทั่น ส.ส.โจ้ ผู้ทรงเกียรติกลับ “ไม่ติดใจ”
เช่นเดียวกับกรณีการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่เต็มไปด้วยความอื้อฉาว ถึงขั้นที่องค์การต้านโกง และสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกโรงตีแสกหน้านายกฯ และรัฐบาลออกมาเรียกร้องให้นายกฯ ได้ลงมาตรวจสอบข้อมูลปมส่วนต่างการประมูลกว่า 6.8 หมื่นล้าน แต่กระนั้น “ท่าน ส.ส.โจ้” ผู้ทรงเกียรติก็ไม่ยุ่ง!
หรือกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ต่อขยายสัมปทานทางด่วน ส่วนเหนือ ให้กับ BEM ไปกว่า 15 ปี เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทเรื่องของค่าโง่ ที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้การทางพิเศษฯ (กทพ.) ชดเชยความเสียหายให้แก่คู่สัญญาเอกชนไปแล้ว 4,300 ล้านบาทเศษ ทั้งที่หลายคดียังอยู่ในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ และหลายคดียังอยู่ในชั้นศาล ยังไม่มีคำพิพากษาด้วยซ้ำ แต่ ทั่น ส.ส.โจ้ ก็ไม่เคยติดใจหรือมีข้อกังขาเลยว่า การต่อขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าว ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ อย่างไร?
กับข้อเสนอที่จะให้นำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ปี 62 โดยเสนอให้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับที่ผู้ว่า กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ออกมาเรียกร้องก่อนหน้านั้น โดยอ้างเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งก็ไม่รู้ท่านผู้ว่า กทม. และ ส.ส.โจ้ ผู้ทรงเกียรติ ได้เคยติดตามกรณีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำลังเป็นประเด็นสุดร้อนอยู่ในเวลานี้หรือไม่ เพราะโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม. ก็อ้างว่า ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ทุกกระเบียดนิ้วนั้น มีสภาพเป็นอย่างไร อื้อฉาวแค่ไหน เปิดประมูลมากกว่า 3 ปีแล้วก็ยังคาราคาซังไม่ไปไหน
แล้วโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีเนื้อหาสุดซับซ้อนยิ่งกว่าไหนจะสัมปทานโครงการเดิมที่เป็น “ออริจินัล” ของ BTS ไหนจะส่วนต่อขยายที่ 1 2 สายทาง ที่ กทม. ว่าจ้าง BTS เดินรถ 30 ปี ผ่านวิสาหกิจ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ของ กทม.เอง ไหนจะส่วนต่อขยาย เหนือ-ใต้ 2 สายที่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้โอนโครงข่ายจาก รฟม. มาให้ กทม.รับช่วงไปบริหารเดินรถเองอีก 3-4 สัญญาที่อิรุงตุงนังอยู่แบบนี้ จะลากเข้าไปแก้ไขปัญหาในแบบปกติได้หรือ?
กับเรื่องที่ กทม. ดำเนินการว่าจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2 สายทาง ผ่านวิสาหกิจของ กทม. คือ กรุงเทพธนาคม(KT) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช ที่ 3/2562 เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้โดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น คำถามก็คือ หาก กทม. ไม่จ้างผู้ให้บริการรายเดิม คือ BTS แล้ว จะให้ กทม. เปิดประมูลเป็นการทั่วไปตามที่ท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรตินำเสนอได้หรือ?
หากไปดำเนินการประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ปัญหาที่จะเกิดตามมาทันที ก็คือ การเดินรถที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่สามารถให้บริการ Through Operation ได้ ผู้โดยสารจะเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายกันอย่างไร หากผู้ให้บริการโครงข่ายส่วนต่อขยาย กับผู้ให้บริการโครงข่าย BTS เดิมเป็นคนละรายกัน ยังไม่รวมไปถึงปัญหาการคิดค่าโดยสาร ค่าผ่านโครงข่าย และค่าแรกเข้าจะคิดกันอย่างไร
การนำเอาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.พีพีพี ปี 2562 โดยต้องเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามารับสัมปทานเดินรถโครงการส่วนต่อขยาย 2 สายทาง ที่ไม่ใช่ BTS แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? จะเชื่อมโยงการเดินทางกันอย่างไร? ในเมื่อเป็นคนละโครงข่าย จะไปออกเงื่อนไข TOR จะต้องเชื่อมโยงกับโครงข่ายเดิมของ BTS ไปละเมิดสัญญาสัมปทานเขาให้งานเข้าได้หรือ? ประชาชนผู้โดยสาร ไม่ต้องลงรถเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกันหรือ ในเมื่อผู้ให้บริการเป็นคนละรายกัน และจะต้องคิดค่าแรกเข้าแต่ละระบบกันอย่างไร (กรณีเคยเกิดช่วงเดินรถสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่มาแล้ว จนต้องแก้ไขปัญหาด้วยการจ้างรายเก่า BTS เดินรถต่อเนื่องในปัจจุบัน)
ส่วนเรื่องที่ว่า เหตุใดรัฐ และ กทม. จึงออกแบบโครงข่ายรถไฟฟ้า (รวมไปถึงทางด่วน) ทอดยาวข้ามจังหวัดรอบปริมณฑลด้วย เป็นการโยนภาระมาให้คน กทม. รับกรรมแทนหรือไม่นั้น ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเสียงสะท้อนจุดยืนเดียวกับที่ผู้ว่า กทม. เคยตั้งคำถามไปยังรัฐบาลก่อนหน้านี้ จากการที่ กทม. ต้องไปแบกรับภาระลงทุนโครงข่ายสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ที่ทอดยาวไปยังจังหวัด สมุทรปราการ และปทุมธานี
แต่เรื่องนี้ “ท่าน ส.ส.โจ้” และ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” คงต้องย้อนถามไปยังรัฐบาลเองครับ เพราะโครงข่ายส่วนต่อขยายที่ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นคนดำเนินการก่อนจะมีมติ ครม. โอนมาให้ กทม.บริหาร และไม่ได้โอนมาให้ฟรีเสียด้วย เงินลงทุนในโครงการนี้กว่า 53,000 ล้านบาทนั้น กทม. ยังต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยทุกเม็ดให้กับ รฟม. (มติ ครม.11 พ.ย.61) ด้วยอีก (ทั้งที่หากเป็นการลงทุนของ รฟม.เองนั้น เงินลงทุนส่วนนี้ไม่ต้องใช้คืนแม้สตางค์แดงเดียว)
ยิ่งในส่วนของ “ทั่นผู้ว่าชัชชาติ” นั้นควรต้องนั่ง “ไทม์แมชชีน” กลับไปถามตัวเองตอนเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” ด้วยว่า เหตุใดจึงอุตริไปจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าที่ลากสายทางข้ามภพข้ามชาติไปยังจังหวัดปริมณฑลเอาได้ และไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่านั้น โครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ล้วนทอดยาวข้ามไปยังปริมณฑล หรือมีแผนต่อขยายออกไปปริมณฑล ไปเอื้อให้ผู้คนในจังหวัดรอบนอกได้อานิสงส์ทั้งนั้น
ไล่ดะมาตั้งแต่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย และสายสีแดง สายสีเหลือง สายสีม่วง และสายสีชมพู ฯลฯ อย่างรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น มีแผนขยายช่วงรังสิต-มธ.รังสิต 8.84 กม. และจากตลิ่งชัน-ศาลายา นครปฐม 15 กม. ยิ่งสายสีม่วงใต้ ที่ รฟม.เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาไปก่อนหน้าที่ลากโครงข่ายจากเตาปูน-ดาวคะนอง-ราษฎร์บูรณะ ไปสิ้นสุดที่ครุในด้วยแล้ว ทอดยาวข้ามจากกรุงเทพ-นนทบุรี-สมุทรปราการ ถึง 3 จังหวัดรวด
เหตุใดกระทรวงคมนาคมจึงจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าได้มั่วตุ้มขนาดนี้ (หรือว่าเสพกัญชากันจนประสาทหลอน) ถึงไปก่อสร้างโครงข่ายข้ามภพข้ามชาติข้ามจังหวัดกันแบบนั้น ไปยัดเยียดความเจริญให้คนเหล่านั้นทำไมในเมื่อไม่ใช้ประชากรของ กทม. สักหน่อย แถมยังเอาหนี้มาโยนโครมให้คนกรุงหรือให้คนทั้งประเทศแบกรับกันอีก! ทำไมไม่ใช้หลักใครใช้ ใครจ่าย ใครลงทุนหล่ะ อยากมีรถไฟฟ้าก็สร้างเอง จ่ายเองกันไป!!!
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่รองหัวหน้าพรรค พท. ออกโรงถล่มแต่รถไฟฟ้าสายสีเขียว BTS อยู่สายเดียวนั้น สื่อไหนเขาก็ดูออกว่ามี “วาระซ่อนเร้น” เป็นแน่ เพราะทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ที่ต่างก็ใช้ ม.44 แก้ไขปัญหา แต่ท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติกลับไม่ติดใจ ประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ฉาวโฉ่รึก็ไม่ยุ่ง ครม.มุบมิบต่อสัมปทานทางด่วน 15 ปี ยังไปสนับสนุนเขาด้วยอีก
แต่พอเขาใช้ ม.44 แก้สัมปทานสายสีเขียวกลับวิ่งพล่านกระโดดขวางลำทันที มันจึงคิดเป็นอื่นไม่ได้เลยนอกจากมหกรรมปาหี่ปกป้องผลประโยชน์ชาติ หรือแค่ชะแว้ปแอบไป “รับจ๊อบ” ใครมาหรือไม่? จริงไม่จริง!!!
หมายเหตุ:อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง..
-เนตรทิพย์:Hot Issue
ดร.สามารถ" สะกิด ครม.! เปิด 6 ข้อกังขาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม.ไม่เคลียร์
http://www.natethip.com/news.php?id=6139
-เนตรทิพย์:Hot Issue
กทม.ขว้างงูไม่พ้นคอ! "ดร.สามารถ" ฟาด กทม. ดองเค็มหนี้จนงานงอก!
http://www.natethip.com/news.php?id=6146
-เนตรทิพย์:Hot Issue
สมาคมทนายความตีแสกหน้า "บิ๊กตู่" ปาหี่ปราบทุจริต ทั้งที่ประมูลสายสีส้มโฉ่ ใต้ชายคายังทำเป็นมองไม่เห็น!
http://www.natethip.com/news.php?id=6145