ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกโรงเคลื่อนไหว เพื่อพิทักษ์ “ขุมทรัพย์ไฟฟ้า” ของตนเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หลังถูกลิดรอนและลดบทบาทจากการที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานดำเนินยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ และนโยบายบริหารจัดการพลังงาน ด้วยการเปิดทางให้กลุ่มทุนพลังงาน และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรุกคืบเข้ามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ จนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงมาเหลืออยู่เพียง 34.79% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศเท่านั้น
ถึงขั้นที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้ออกโรงยื่นฟ้องให้ศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาการดำเนินนโยบายพลังงานของรัฐและกระทรวงพลังงาน ในการกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานและดำเนินแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-80 จนทำให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐ โดย กฟผ. ลดต่ำกว่าร้อยละ 51 ว่า เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรค 2 หรือไม่?
และโยนบาปว่า ด้วยยุทธศาสตร์พลังงาน และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลข้างต้นเป็น ส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนคนไทยต้องแบกรับอยู่ในวันนี้พุ่งกระฉูด โดยนัยว่า ในปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin ของไทยทะลักไปกว่า 55% ไปแล้ว ทำให้คนไทยต้องจ่าย “ค่าไฟทิพย์” สูงเกินจริง!
แต่ประเด็นดังกล่าว หากเป็นจริงก็ให้น่าคิดว่าแล้วเหตุใด คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพลังงาน ยังคงเดินหน้านโยบายรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว หรือไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนระลอกใหม่อีกกว่า 5,200 เมกกะวัตต์ ในช่วงปี 2565-73 หากปริมาณไฟสำรองทะลักล้นจนสำลัก!
ในแผนรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวระลอกใหม่ภายใต้สัญญารับซื้อรูปแบบ Feed in Tariff : FIT ที่ กกพ. ประกาศเงื่อนไขรับซื้อก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย..
1. ก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์ โดยกำหนดไทม์ไลน์รับซื้อในช่วงปี 2569-71 ปีละ 75 เมกะวัตต์ 2. พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดรับตั้งแต่ปี 2568-73 3. พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ กำหนดรับซื้อในช่วงปี 2567-70 ปีละ 100 เมกะวัตต์และช่วงปี 2571-73 ปีละ 200 เมกะวัตต์ และ 4. ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ โดยได้เปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอไปตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คาดจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกภายในไตรมาสแรกของปีหน้า
หากประเทศต้องสำลักกับปริมาณไฟสำรองที่เป็น Reserve Margin มากกว่า 50-55% อย่างที่กำลังโจมตีกันอยู่นี้แล้ว กกพ.กับกระทรวงพลังงานจะดั้นเมฆเปิดรับซื้อไฟฟ้าบิ๊กล็อตในระยะ 5 ปีข้างหน้าไปเพื่ออะไร? อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าดังกล่าว ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงอย่างที่เข้าใจกัน ตรงกันข้าม เราอาจต้องเพิ่มสัดส่วนสำรองไฟเพื่อรองรับความผันผวนด้านพลังงานเสียด้วยซ้ำ.....
(อ่านรายละเอียดใน.. “ใครคือไอ้โม่งตัวจริง! ทำค่าไฟแพงฉิบ...” ใน Special Report : http://www.natethip.com/news.php?id=5912 )
คลี่รายงานแผนปฏิรูปพลังงานในฝัน
ส่วนเส้นทาง “ผ่าทางตัน” ที่แท้จริง ที่เคยถูกบรรจุเอาไว้ใน “รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน” ที่มี นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และอดีตประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) เป็นประธาน ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 7 พ.ย. 2560 หรือเมื่อกว่า 5 ปีมาแล้ว แต่จนวันนี้รายงานดังกล่าวก็ยังคงถูกเก็บงำ อยู่ที่กระทรวงพลังงาน ได้ระบุถึงปัญหาพลังงานของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
1. ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าไม่ได้คำนึงถึง “ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศ” ดังจะเห็นได้จาก การจัดหาไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีต้นทุนสูงลิ่ว หรือความพยายามนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างโครงการโรงไฟฟ้าสตรึงมนัม เกาะกง และส่งเสริมให้ กฟผ. นำเข้าแอลเอ็นจี (LNG) อีก 1.5 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมการผูกขาด เป็นภาระของประเทศ
2. นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตให้ ปตท. สร้างคลัง LNG โดยไม่มีการแข่งขัน หรือการให้ ปตท. ทำสัญญาจัดหาและนำเข้า LNG ระยะยาว โดยไม่มีการแข่งขัน หรือเช้าไปร่วมลงทุนโครงการชีวมวลที่จะเป็นการแย่งซื้อเชื้อเพลิงจากเอกชน
3. ขณะที่ต้นทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้านั้นกว่า 70% ถูกผูกขาดโดย ปตท. ที่เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ โดยที่กระทรวงพลังงาน และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ได้ทำหน้าที่ผลักดันการเปิดเสรีอย่างแท้จริง
4. การลงทุนต่าง ๆ ของ กฟผ. ทั้งโรงไฟฟ้าและระบบสายส่ง ล้วนเป็นไปในลักษณะ Cost Plus ที่นำเอารายจ่ายนอกเหนือต้นทุนที่แท้จริงเข้าไปรวมอยู่ในต้นทุนไฟฟ้า เป็นการผลักภาระไปให้ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนแบกรับ ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
5. แนวทางการบริหารจัดการด้านพลังงานระบุให้ กฟผ.หยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ สำหรับโครงการที่ยังไม่ประมูล
6. ควรยกเลิกการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าที่จะรองรับโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา ที่ต้องลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท
7. ระงับการดำเนินโครงการชีวมวลของ กฟผ. ทั้งหมด เพื่อไม่ไปแข่งขันกับเอกชนที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว
และ 8. แยกกิจการผลิตไฟฟ้า และสายส่งออกจากกัน เพื่อลดบทบาทผูกขาดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ลง
“จะเห็นได้ว่า แม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่มีอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ด กฟผ. เป็นประธานเอง ยังระบุในรายงานผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปพลังงานของประเทศว่า การจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้น ถูกผูกขาดโดย ปตท. และ กฟผ. โดยเฉพาะในส่วนของการจัดหาก๊าซธรรมชาติของ ปตท. และระบบสายส่ง ของ กฟผ. ขณะที่การลงทุนต่าง ๆ ของ กฟผ. ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และระบบสายส่งนั้น ล้วนเป็นไปในลักษณะที่มีการนำเอารายจ่ายนอกเหนือจากต้นทุนที่แท้จริงเข้ามารวมอยู่ในต้นทุนก่อสร้าง เป็นการผลักภาระไปให้ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนแบกรับ ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม”
น่าเสียดายที่รายงานการศึกษาการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานข้างต้น ที่รัฐบาล คสช. มุ่งมั่นจะให้มีการปฏิรูปพลังงานในฝันต้องถูกเก็บงำขึ้นหิ้ง “ปิดประตูลั่นดาน” การ Implementation อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา) เกิดตกหลุมพรางอยู่ใต้วังวนผลประโยชน์อันคละคลุ้งที่อยู่ในกระทรวงพลังงานนั่นแหล่ะ จึงทำให้แผนปฏิรูปพลังงานที่ว่านี้ ไม่ถูกนำไป Implement อย่างเป็นรูปธรรมเสียที
แนวทางการปฏิรูปพลังงาน สลายอำนาจผูกขาดด้านพลังงานและการจัดหาไฟฟ้าของประเทศ ทั้งของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) กลายเป็นเกมต่อรองทางการเมือง และสุดท้ายกลายเป็นการพบกันครึ่งทาง เสียมากกว่า ดังจะเห็นได้จาก กรณีการจัดทำแผน “พีดีพี” จัดหาไฟฟ้าของประเทศตามยุทธศาสตร์พลังงาน ที่สุดท้ายก็ยังคงเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า และส่งไฟฟ้ามาให้รัฐ หรือ กฟผ. รวบรวมและจัดจำหน่ายให้ประชาชนเท่านั้น โดยที่โครงสร้างและโครงข่ายระบบส่งส่งและจัดจำหน่ายทั้งหลายทั้งปวงยังคงเป็นของรัฐทั้งหมด
ก็คงจะด้วยเหตุนี้ เมื่อประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานจากปัจจัยที่คาดไม่ถึงอย่างวิกฤตไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานทั่วโลก แถมการจัดหาพลังงานในประเทศที่สุ่มเสี่ยงจะต้องเผชิญกับปัญหามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ยังเกิดขึ้นจริงเสียอีก สุดท้ายสถานการณ์ราคาพลังงานก็ปะทุถั่งโถมเข้าใส่ประชาชนคนไทยให้ต้องรับกรรม โดยที่ภาครัฐได้แต่นั่งเอามือซุกหีบอยู่ในปัจจุบัน
กฟผ. พล่านโต้ข้อกล่าวหาผูกขาดอุตฯไฟฟ้า
ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ นั้น วันวาน ฝ่ายบริหาร กฟผ. ได้ออกมาเคลื่อนไหวหลังมีสื่อนำเสนอข่าวสารว่า ผลพวงจากการที่ กฟผ. ผูกขาดอุตสาหกรรมไฟฟ้า ได้ทำให้กำไรของ กฟผ. ในปี 64 มีมากกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 12 รายรวมกันเสียอีก
โดย นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันว่า ไม่ได้ผูกขาดอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศแต่อย่างใด เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ณ เดือนตุลาคม 65 มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16,920.32 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็น 34.44% ของกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเท่านั้น อีกทั้งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปี 2580 กฟผ.จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาเหลือเพียง 18,614 MW คิดเป็น 24% เท่านั้น
ขณะที่ กฟผ. มีภารกิจหลักสำคัญในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ทำหน้าที่สำคัญในการนำระบบไฟฟ้ากลับคืนสู่ภาวะปกติ (Blackout Restoration Plan) เช่นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในปี 2561 จากการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสา เป็นต้น รวมถึง กฟผ. ยังเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานสำคัญเพื่อดูแลประชาชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ดังเช่นในช่วงวิกฤตพลังงานของประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ได้ปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้ากฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันทดแทน LNG ที่มีราคาสูง เพื่อช่วยพยุงค่าไฟฟ้า ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน เป็นต้น
ส่วนเรื่องของระบบสายส่งนั้น กฟผ. ยังจำเป็นต้องดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าได้ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานปี 2550 เพื่อให้เกิดการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
ขณะที่ผลกำไรจากการดำเนินงานกว่า 59,000 ล้านบาท ที่สื่อมวลชนหยิบยกมานำเสนอนั้น เป็นเพียงกำไรขั้นต้นที่รวมการขายสินค้าและบริการอื่น และยังไม่ได้หักต้นทุนแฝงอื่นๆ โดยในปี 2564 กฟผ. มีกำไรสุทธิเพียง 25,771 ล้านบาทเท่านั้น และกำไรดังกล่าวได้นำส่งเข้ารัฐไปกว่า 17,426 ล้านบาท หรือ 57% ของกำไร ส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงทางพลังงานลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากทุกฝ่ายจะย้อนรอยกลับไปพิจารณา “รายงานการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน”ข้างต้นนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่ กฟผ. ชี้แจงมาข้างต้น “ย้อนแย้ง” กับรายงานดังกล่าวโดยสิ้นเชิง !
ถึงเวลายกเครื่องปฏิรูปพลังงานที่แท้จริง?
กับแนวทางในอันที่จะปฏิรูปพลังงาน เพื่อ ”ผ่าทางตัน” ปัญหาค่าไฟฟ้าที่กำลังทำเอาประชาชนคนไทยสำลักกันถ้วนหน้าอยู่เวลานี้ สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ ก็คือ การ Focus ปัจจัยที่ควบคุมได้ทันที อย่างการปฏิรูประบบการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ที่ดูแลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ใหม่ทั้งหมด ภาคประชาสังคมต้องกดดันให้เปิดงบประมาณ และแผนการดำเนินงานอย่างโปร่งใส, ปรับโครงสร้างต้นทุนให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ที่ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่แฝงเอาต้นทุนที่เป็นสวัสดิการและความฟุ่มเฟือยต่างๆ เข้าไปแฝงเป็น Cost plus อยู่ในต้นทุนโรงไฟฟ้าที่ถูกส่งผ่านไปยังประชาชน
ไม่ใช่หวังแต่จะรื้อฟื้นเส้นทางการผูกขาดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยข้ออ้างเดิมๆ ที่ทุกฝ่ายต่างก็รู้แก่ใจกันดีว่า รังแต่จะถอยหลังลงคลอง จนผู้คนเริ่มตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้ววันนี้ EGAT ยังจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าเองหรือไม่ ในขณะที่ภาคเอกชนต่างมี know how มีความคล่องตัว มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ยิ่งกว่าความอุ้ยอ้ายของระบบบริหารงานแบบราชการของ EGAT
ข้ออ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่ยืนยันความจำเป็นที่ กฟผ. ต้องผูกขาดการลงทุนและดูแล “ระบบสายส่ง” ของประเทศ เพราะถือเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศนั้น ไม่เพียงจะ “ย้อนแย้ง” รายงานผลการศึกษาฯ ข้างต้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่คน กฟผ.ถูกปลูกฝังให้ประชาชนคนไทยต้องเชื่อในสิ่งเหล่านี้มาตลอดศก
ทั้งที่ข้ออ้างในลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน การจัดหาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคที่เคยของของรัฐ อย่างในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือในความรับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) นั้น ต่างมีการแปรรูปเปิดทางให้เอกชนเข้ามาลงทุนรับสัมปทานบริหารจัดการไปหมดแล้ว
หรือในส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในอดีต โครงข่ายระบบสื่อสารระหว่างประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.)ในอดีตที่ล้วนถือเป็นความมั่นคงของประเทศก็ล้วนถูกแปรรูป-เปิดเสรีให้เอกชนเข้ามาแข่งขันให้บริการไปหมดแล้ว แม้กระทั่งในเรื่องสิทธิการบิน หรือเส้นทางการบิน ที่ถือเป็นสิทธิประโยชน์ของประเทศ ปัจจุบันก็เปิดทางให้สายการบินเอกชนเข้ามาแข่งขันไปจนหมดสิ้นแล้ว
“ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานใดที่เมื่อเปิดเสรีไปแล้วจะทำให้ความมั่นคงของประเทศสุ่มเสี่ยงจะสร้างปัญหาตามมา แม้กระทั่งในส่วนของโครงข่ายระบบสายส่ง ที่กฟผ.พยายามกรอกหูว่า มีความจำเป็นจะต้องผูกขาดและเป็นเจ้าของอยู่นี้ เพราะดังที่กล่าวไปแล้ว ในต่างประเทศอย่างออสเตรเลียนั้น เปิดทางให้ผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้า สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้ประชาชนและชุมชนโดยตรง ประชาชนชาวออสซี่สามารถที่จะเลือกใช้บริการไฟฟ้าจากเครือข่ายเอกชนรายใดก็ได้ ไม่ต่างที่ประเทสไทยเลือกใช้เครือข่ายสื่อสารทาคมนาคม และอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน”
หาไม่แล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) และ 2 การไฟฟ้าอาจตกอยู่ในสภาพเดียวกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ( NT) ในปัจจุบัน เพราะวันนี้หมดยุคที่จะมาปลูกฝังการผูกขาดอุตสาหกรรมไฟฟ้าด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงกันแล้ว!!!
หมายเหตุ : อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง..
- เนตรทิพย์:Special Report
ดราม่าต้นตอค่าไฟแพง (1) นโยบายรัฐผิดพลาด หรือแผนยืมมือฟื้น"เสือนอนกิน"
http://www.natethip.com/news.php?id=6150
- เนตรทิพย์:Special Report
ดราม่าต้นตอค่าไฟแพงแบบก้าวกระโดด (ตอนที่2) คลี่โรงไฟฟ้าชุบทอง กฟผ. - เปิดโมเดลพลังงานในฝัน!
http://www.natethip.com/news.php?id=6158
-เนตรทิพย์:Special Report
ใครคือไอ้โม่งตัวจริง! ทำค่าไฟแพงฉิบหาย
http://www.natethip.com/news.php?id=5912