จับตาคมนาคม “ทิ้งทวน” กระเตงผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.42 แสนล้าน เข้า ครม. ก่อนรัฐบาลแพแตก-ยุบสภา หลังมีรายงานชัดที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้อง รฟม.-กก.คัดเลือก แก้เกณฑ์ประมูลชอบด้วยกฏหมาย
เส้นทางการประกวดราคาจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนรวม 1.42 แสนล้าน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่คาราคาซังมากว่า 3 ปี ใกล้เดินทางมาถึงบทสรุปแล้ว หลังจากมีรายงานว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา (RFP) และการที่ผู้ว่าการ รฟม. ออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 64 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตีปี๊บศาลปกครองสูงสุดยกคำร้อง
อย่างไรก็ตาม รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยยืนยันว่า ได้ดำเนินการถูกต้อง เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงการขนาดใหญ่ งานก่อสร้างเป็นงานใต้ดินตลอดเส้นทางที่ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง จึงจำเป็นต้องได้เอกชนที่มีศักยภาพเพื่อให้การดำเนินโครงการสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย
และเนื่องจากเป็นคดีที่มีความสำคัญ ประธานศาลปกครองสูงสุด จึงสั่งให้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณา ก่อนจะมีรายงานว่า ที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้อง โดยเห็นว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นๆ อีก และคาดว่าศาลจะนัดอ่านคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดในเร็วๆ นี้
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ฝ่ายบริหาร รฟม. ได้รับร่างสัญญาการประมูลก่อสร้างและร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม จากสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ได้ตรวจสอบร่างสัญญาเรียบร้อยแล้ว จึงคาดว่าบอร์ด รฟม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบสัปดาห์นี้ ก่อนนำเสนอให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อนำเสนอผลประมูลโครงการนี้ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนที่นายกฯ จะประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งต่อไป
คมนาคม "ทิ้งทวน" ก่อน รบ.แพแตก
แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้ รมว.คมนาคม จะประกาศว่า รฟม. จะยังไม่เซ็นสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพราะต้องรอให้คดีความต่างๆ ที่อยู่ในศาลสิ้นสุดลงก่อน แต่เมื่อมีรายงานว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว กรณีการแก้เกณฑ์ประมูลคัดเลือก และยกเลิกประมูลในครั้งก่อน จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่า คดีความอื่นๆ ก็คงจะออกมาในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกก่อนหน้าดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
"เชื่อว่า กระทรวงคมนาคม คงจะยกมติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมาเป็นข้ออ้างในการนำเสนอโครงการนี้ต่อที่ประขุม ครม. ใน 1-2 สัปดาห์นี้อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องรอฟังผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. ด้วยข้ออ้างโครงการมีความล่าช้าไปมากแล้ว เพราะหากไม่รีบเร่งนำเสนอ ครม. ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก็อาจจะต้องรอรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมัการพลิกผันถึงขั้นอาจยกเลิกการประมูลเอาได้ แต่หากเร่งนำเสนอในข่วงเวลานี้เขื่อแน่ว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะผ่านโครงการให้แน่"
ประเทศต้องแลกมาด้วย "ค่าโง่แสนล้าน"
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากรายงานกรณีคำวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ต่อกรณีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลคัดเลือกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ที่ดำเนินไปก่อนหน้า ถือเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฏหมาย และคณะกรรมการคัดเลือกได้ดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศแล้ว
คำวินิจฉัยดังกล่าว อาจจะเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" ที่จะทำให้การประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ ของรัฐในอนาคต จะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขเกณฑ์คัดเลือกตามมาเป็นพรวน หน่วยงานเจ้าของโครงการจะสามารถแก้ไขเกณฑ์ประมูลคัดเลือกอย่างไรหรือเมื่อใดก็ได้ เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนการเมืองสอดมือเข้ามาตั้งโต๊ะเจรจาเรียกร้องผลประโยชน์ได้ทุกเมื่อ ว่าจะประเคนโครงการก่อสร้าง หรือสัมปทานแก่เอกชนรายใดที่เสนอผลประโยชน์ให้มากที่สุด
ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก็เช่นกัน ผลแห่งคำวินิจฉันที่ออกมารองรับการดำเนินโครงการดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา แม้จะทำให้ รฟม. สามารถเดินหน้าลงนามในสัญญากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะประมูลโครงการนี้ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการถลุงเม็ดเงินภาษีของประเทศไปกว่า 78,287 ล้านบาท ไปกับการดำเนินโครงการนี้
เมื่อเทียบกับข้อเสนอของ บีทีเอส ที่เคยยื่นข้อเสนอในการประมูลครั้งก่อน ที่ขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก รฟม. เพียง 9,612 ล้านบาทเท่านั้น แตกต่างกันกว่า 68,000 ล้านบาท ทั้งที่ปริมาณเนื้องานในโครงการยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดเดิมทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้หลายฝ่ายพากันวิพากษ์อย่างหนักว่า เม็ดเงินผลประโยชน์ที่หายไปกว่า 68,000 ล้านบาทดังกล่าว ที่คาดว่า จะสะพัดไปยังองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งนักการเมืองและพรรคการเมืองที่กำลังเตรียมการเลือกตั้งอยู่หรือไม่ ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ผ่านการอนุมัติไปอย่างง่ายดายในที่สุด