สาวไส้ในเบื้องหลังอุ้ม “สว.ทรงเอ” หนีขบวนการยาเสพติด ที่แท้ ปปส.-จนท.ตำรวจฝ่ายสอบสวน หมกแฟ้มคดีกันเองหรือไม่? ยันผู้พิพากษาสั่งเพิกถอนหมายโดยชอบแล้ว เหตุไม่ใช่กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ต้องส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานสอบสวนทำรายงานขอหมายโดยตรง แต่กลับหายเข้ากลีบเมฆ
กรณีที่ศาลอาญาได้สั่งเพิกถอนหมายจับ “สว.ทรงเอ” ตามคำแนะนำของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ภายหลังจากหัวหน้าชุดสืบสวนเข้าร้องต่อศาลขอออกมาจับกรณีเข้าไปพัวพันขบวนการค้ายาเสพติด โดยมีหลักฐานคำให้การซักทอดของกลุ่มผู้ต้องหาร่วมขบวนการที่ถูกจับ และขยายผลให้การมาถึง จนท้ายที่สุดคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้สั่งให้หัวหน้าชุดจับกุมในคดีดังกล่าวรายงานเรื่องที่เกิดขึ้น และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่าศาลได้เข้ามาแทรกแซงขบวนการยุติธรรมหรือไม่นั้น
ต่อกรณีดังกล่าว สำนักข่าว “เนตรทิพย์” ได้รับการเปิดเผยจากอาจารย์ผู้บรรยายกฎหมายให้แก่พนักงานสอบสวนว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของหัวหน้าชุดสืบสวนที่มีต่อการเพิกถอนหมายจับ “สว.ทรงเอ” ที่ว่านี้ เพราะโดยหลักปฏิบัติขั้นตอนการขอออกหมายจับนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่มีหน้าที่โดยตรง แม้ผู้ขอออกหมายในคดีนี้จะเป็นข้าราชการตำรวจชุดจับกุม แต่กรณี (1) หากเป็นการจับในชั้น "สืบสวน" ปกติ ตำรวจมีอำนาจจับโดยไม่ต้องมีหมายจับ ตาม ป.วิ อ.ม.78 อยู่แล้ว แต่หากเป็นการร้องขอหมายจับนั่นย่อมแสดงว่า คดีไม่มีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เมื่อคดีไม่มีเหตุเร่งด่วน ฝ่ายสืบสวนจึงควร "จัดทำรายงานการสืบสวนสรุปพยานหลักฐาน" ส่งมอบให้ ผกก. หรือ ผบก. หน.พนักงานสอบสวน เพื่อส่งมอบให้ “พนักงานสอบสวน” ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติศาลออกหมายจับโดยตรง
(2) กรณีนี้ เห็นว่า ในชั้นจับกุม แม้มีหลักฐานตามสมควร แต่ “ไม่มีเหตุเร่งด่วน" ศาล “ไม่พึงอนุมัติ” หมายจับให้ผู้สืบสวน แต่ควรให้ผู้สืบสวนมอบหลักฐานให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน และออกหมายเรียก หรือหมายจับตามขั้นตอนของ ป.วิ.อาญา กำหนด
(3) การที่พนักงานสืบสวน/หัวหน้าชุดจับกุม มาร้องขอออกหมายจับนั้น ศาลจำต้องไต่สวนให้เห็น “เหตุด่วนอย่างยิ่ง” อย่างเคร่งครัด ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏนั้น ศาลอาญาไม่ได้ไต่สวนในประเด็นนี้ทำให้ “ผิดหลง” ในการออกหมายจับ ดังนั้นการที่ศาลได้เพิกถอนหมายจับที่ออกมา จึงกระทำโดยชอบแล้ว
นอกจากนี้ ในประเด็นที่ 2. การออกหมายจับในชั้น "สืบสวน หรือ ชั้นจับกุม" โดยไม่ปรากฏ "เลขคดีอาญา" เฉกเช่นในชั้นการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้น ยัง “สุ่มเสี่ยง” ทำให้หมายจับ "ลอย" ตรวจสอบไม่ได้ เช่น หมายจับ คดีอาญาที่ 1/2566 หรือ หมายจับในคดีอาญาที่ 2/2566 แต่หมายจับชั้นสืบสวนหรือชั้นจับกุม น่าจะไม่มีหมายเลขคดีอาญา ทำให้หมายจับ ลอย สุ่มเสี่ยงนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ศาลพึงไต่วนประเด็นนี้ให้ชัดแจ้ง การที่ศาลอาญาไม่ได้ไต่สวนประเด็นนี้ ทำให้ผิดหลงในการอนุมัติหมายจับ
3. ในการขอหมายจับข้อหา "สมคบฯ" ที่มีการ "ซัดทอด" ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 153 บัญญัติให้ ต้องมีคำอนุญาตจาก เลขา ปปส.ก่อน เพราะ (1) การจับมีวัตถุประสงค์คือจับมาเพื่อแจ้งข้อหา และสอบสวน หาก เลขา ปปส.ยังไม่อนุมัติให้แจ้งข้อหา เมื่อเวลาจับมาแล้ว ไม่แจ้งข้อหา หรือแจ้งข้อหา แต่การแจ้งไม่ชอบ ก็ทำให้การจับไม่ชอบด้วย เพราะจับมาโดยไม่มีอำนาจแจ้งข้อหา ซี่งประเด็นนี้ ศาลอาญาก็ยังไม่ได้ไต่สวน การที่ศาลอนุมัติหมายจับจึง “ผิดหลง” เช่นกัน
4. ข้อสังเกตุเพิ่มเติมต่อการออกหมายจับของศาลอาญา ในคดีนี้
(1) เป็นการออกให้ผู้จับกุม หรือ ผู้สืบสวน ซึ่งผิดหลักปฏิบัติของการออกหมายจับปกติ (ต้องผ่านการกลั่นกรองจากพนักงานสอบสวนก่อน)
(2) การออกหมายจับในชั้นสืบสวน น่าจะไม่มีเลขคดีอาญาอันเป็นสารบบการดำเนินคดีอาญาของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติรองรับ ทำให้หมายจับลอย ยากแก่การตรวจสอบ และ สุ่มเสี่ยงถูกนำไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง
(3) ชั้นจับกุม หากมีเหตุเร่งด่วน + คดีมีหลักฐานตามสมควร ผู้สืบสวน ย่อมจับผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตาม ปวิอ.ม. 78 การที่มาร้องต่อศาลเพื่อขอหมายจับได้ย่อมแสดงว่า “คดีไม่มีความเร่งด่วน” การที่ศาลออกหมายจับ จึงน่าจะ “ผิดหลง” ดังที่กล่าวไปแล้ว และ (4) หากข้อหาตามหมายจับที่ร้องขอ เช่น ข้อหา มคบฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตหรืออนุมัติจาก เลขา ปปส.ให้แจ้งข้อหา หากมีการออกหมายจับแล้ว ไปจับผู้ต้องหาตามหมายจับมา ก่อนหรือระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้แจ้งข้อหาหรือไม่ ย่อมทำให้การจับ ไม่อาจแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาได้ ย่อมทำให้การจับไม่ชอบ และการออกหมายจับไม่ถูกต้อง
5. ด้วยเหตุนี้ การเพิกถอนหมายจับของศาลอาญา เห็นว่าถูกต้องในผลแล้ว แต่เหตุที่ให้ คือ แจ้งว่าได้รับคำแนะนำจากอธิบดีผู้พิพากษา หรือผู้บริหารศาลนั้นอาจไม่ถูกต้อง ควรอ้างเหตุตามข้อ 1- 4 ข้างต้น แต่กระนั้นการเพิกถอนหมายจับของศาลอาญา จึงชอบด้วยผล (แต่ไม่ถูกต้องด้วยเหตุ)
ส่วนกรณีที่เมื่อชุดจับกุมกอองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดติดตามดำเนินคดีกับ “สว.ทรงเอ” ตามแนวทางที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแทงความเห็นมาแล้ว เหตุใดคดีจึงเงียบหายเข้ากลีบเมฆ ไม่มีการออกหมายเรียก หรือขอออกหมายจับตามมาดังที่ควารจะเป็นนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่ ผบ.ตร. และผู้เกี่ยวข้องต้องกลับไปไล่เลียงกันเองเป็นการภายใน ไม่เกี่ยวกับศาล
“หากทุกฝ่ายจะได้พิจารณาประเด็นการเพิกถอนหมายจับกรณีนี้ กล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมในส่วนของอำนาจตุลาการของศาลไทย ยังมีความเป็นอิสระ และเชื่อมั่นได้ายังไม่อาจแทรกแซงได้ แม้การอธิบายของศาลอาจไม่ชัดเจน ตรงโจทย์ของสังคม แต่การถ่วงดุลและความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในระบบศาลไทยยังเข้มแข็ง”
หมายเหตุ : อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- เนตรทิพย์: Special Report
งามไส้กระบวนการยุติธรรม! * แฉเบื้องหลังอธิบดีศาลสั่งถอนหมายจับ “สว.ทรงเอ” * หักดิบผู้พิพากษา-ชุดจับกุมทั้งที่หอบหลักฐานมัดแน่น
http://www.natethip.com/news.php?id=6492