งามไส้กระบวนการยุติธรรม แฉเบื้องหลังอธิบดีผู้พิพากษาศาลสุมหัวสั่งเพิกถอนหมายจับ “สว.ทรงเอ” หักดิบผู้พิพากษา-จนท.ชุดจับกุม อ้างเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง หวั่นกระทบสองขั้วอำนาจ ก่อนลามกลายเป็นกรณีอื้อฉาวที่ทำการพรรคใหม่นายกฯ พัวพันแก๊งยาเสพติด ตุลาการศาลอาญาสั่งรายงานละเอียดยิบ วงการยุติธรรมชี้ยุคเสื่อมต้องรับผิดชอบยกกรม ในที่สุดกรณีที่ทำการพรรคใหม่นายกฯ “บิ๊กตู่” เข้าไปพัวพันกับเครือข่ายยาเสพติดของ “สว.ทรงเอ” ที่กำลังเป็นประเด็นอื้อฉาวหรือไม่? หลังมีการสาวไส้เบื้องหลังคำสั่งเพิกถอนหมายจับ-ตรวจค้นและถอนหมายอินเตอร์โพลล์ของ สว.อื้อฉาวรายนี้ ที่พบว่า มีระดับบิ๊กอธิบดี-รองฯ ในกระทรวงยุติธรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง..โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 66 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สน.พญาไท อดีตสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ทำหนังสือรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกหมายจับและเพิกถอนหมายจับ สว.ทรงเอ อื้อฉาวรายนี้ต่อ นายปุณณะ จงนิมิตสถาพร กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม โดยระบุว่า เมื่อครั้งที่ตนดำรงตำแหน่งสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองคับคับการสืบสวนสอบสวนฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอออกหมายจับ สว.รายดังกล่าว และศาลได้อนุมัติหมายจับและตรวจค้นตามคำขอ ตามหมายจับศาลอาญาที่ จ.554/2565 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 65 แต่ต้องถูกยกเลิกหมายจับในวันเดียวกัน โดยคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ทั้งนี้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจะร้องต่อศาลขอออกหมายจับ สว.อื้อฉาวรายนี้ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวน 2 ได้ดำเนินการจับกุม “นายทุน มิน หลัด” สัญชาติเมียนมา พร้อมพวกรวม 4 คนในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน และได้มีการขยายผลจนพบว่า มีความโยงใยไปถึง “สว.ทรงเอ” โดยตรง ก่อนจะส่งตัวผู้ต้องหาเครือข่ายยาเสพติดเหล่านี้ไปยังกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติดที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง อย่างไรก็ตาม ระหว่างสอบขยายผลผู้ต้องหาเหล่านี้ ทางกองกำกับการสืบสวน 2 ได้รับการติดต่อจากนายตำรวจใหญ่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ตัดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ สว.รายดังกล่าวออกไป แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมในกองกำกับการสืบสวน 2 เห็นว่า พยานหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอที่จะดำเนินคดีกับ “สว.ทรงเอ” ได้ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานร้องขอให้ศาลออกหมายจับ และหมายค้นในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 65 โดยระบุในคำร้องอย่างชัดเจนถึงสถานภาพของ “สว.ทรงเอ” ว่า เป็นใครอย่างชัดเจนไม่มีการปิดบัง ทั้งได้รายงานถึงข้อจำกัดและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อกรณีการออกหมายจับและหมายค้นในครั้งนี้ ที่เป็นการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 และประมวลระเบียบ ตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 3 บทที่ 4 ข้อ 43(3) ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนหากเป็นการดำเนินการนอกสมัยประชุมสามารถดำเนินการได้ ก่อนได้รับการอนุมัติหมายจับและหมายตรวจค้นจากผู้พิพากษาเวรในขณะนั้น ตามหมายจับที่ จ.554/2565 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 65 โดยมีกำหนดจะเข้าค้นในวันที่ 4 ตุลาคม 65 เวลา 6.00 น. หลังจากได้รับอนุมัติหมายจับและหมายค้น ทางชุดจับกุมได้กลับไปยังกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนเพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ปปส. เพื่อประสานงานในการขออนุมัติแจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งลงประกาศสืบจับในระบบ CRIMES ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อป้องกันผู้ต้องหาหลบหนีออกนอกประเทศ และรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อวางแผนตรวจค้นและจับกุม อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันเดียวกันตนกลับได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลให้นำหมายจับฉบับจริงและพยานหลักฐานที่มีไปพบรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จึงได้นำผู้บังคับบัญชาพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำเอกสารหลักฐานเดินทางไปยังห้องทำงานของรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และถูกเชิญเข้าไปห้องทำงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่กำลังมีการหารือกันในเรื่องนี้ โดยที่ตนไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นการหารือในเรื่องใด ก่อนถูกเรียกตัวเข้าไปสอบถามที่มาที่ไปถึงการขอออกหมายจับและหมายค้นสมาชิกวุฒิสภา และถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่า กำลังจะล้มอำนาจนิติบัญญัติของประเทศ และยังพยายามสอบถามว่าตนเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร รวมทั้งยังมีการเรียกผู้พิพากษาเวรที่เป็นผู้อนุมัติออกหมายในครั้งนี้มาสอบถามอย่างละเอียดอีกด้วยทั้งนี้ แม้ตนและชุดจับกุมจะแสดงเอกสารหลักฐานความเกี่ยวข้องกับคดีอย่างละเอียด รวมทั้งพยานหลักฐานที่เพียงพอต่อการขอออกหมายจับและหมายค้นในครั้งนี้ แต่สุดท้ายก็ถูกตัดบทว่า ตนและชุดจับกุมใช้ดุลยพินิจในการร้องขอออกหมายจับโดยมิชอบ ก่อนขอให้ตนถอนหมายจับออกไป แต่ตนได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถทำได้เพราะจะถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและวินัย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ ท้ายที่สุด อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้สั่งให้มีการถอนหมายจับ โดยอ้างว่า หากไม่มีการถอนหมายจับ อาจถูกผู้ใหญ่ตำหนิอย่างรุนแรงเอาได้ ก่อนที่จะมีการรายงานจะให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ออกหมายเรียก สมาชิกวุฒิสภารายดังกล่าวมาแจ้งข้อกล่าวหาภายใน 15 วันเอง เมื่อตนและชุดจับกุมได้กลับมายังกองกำกับการฯ ก็ได้รายงานเรื่องที่เกิดขึ้น และรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ติดตามดำเนินคดีกับ “สว.ทรงเอ” ตามแนวทางที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแทงความเห็นมาให้ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 4 ตุลาคม 65 และนับจากวันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่พบว่า ได้มีการออกหมายเรียกและหมายจับ สว.รายดังกล่าวแต่อย่างใดขณะที่ตนและผู้บังคับบัญชา ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี “สว.ทรงเอ” ต่างถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นนอกกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยกชุด ทั้งที่ไม่มีความผิดและไม่ได้สมัครใจ แต่เชื่อว่าน่าจะไม่ต้องการให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินคดี “สว.ทรงเอ” รายนี้ได้อีก “การประวิงเวลาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดำเนินคดีกับ “สว.ทรงเอ” ในครั้งนี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อศรัทธาของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และการเพิกถอนหมายจับด้วยเหตุผลว่าผู้ถูกออกหมายจับเป็น “บุคคลสำคัญ” เป็นการทำลายหลักการที่ว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย” ในท้ายหนังสือชี้แจงระบุ หลังมีเอกสารรายงานดังกล่าวเล็ดรอดไปถึงสื่อมวลชน รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการสีกากีและกระบวการยุติธรรม ทำให้คนต่างเห็นว่า ถือเป็นยุคเสื่อมของกระบวนการยุติธรรมโดยแท้และเห็นว่า ทั้งตัวอธิบดีและรองอธิบดีรวมทั้งผู้บริหารในกรมที่เกี่ยวข้องกับการเพิกถอนหมายจับในครั้งนี้ รวมทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เข้ามาล้วงลูกคดีดังกล่าว สมควรต้องแสดงความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม