สภาผู้บริโภค จัดเวทีผ่าทางตันปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้ม-สายสีเขียว 3 พรรคการเมืองใหญ่ “ปชป.-ชาติไทยพัฒนา-ก้าวไกล” ขานรับล้างไพ่-เปิดประมูลใหม่เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดความกระจ่างได้ ส่วนสายสีส้มเสียงแตก ปชป.แนะดูความเป็นจริงหากใช้หนี้ไม่ได้ ควรต่อสัมปทาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เปิดเวทีเสวานา “เปิดนโยบายแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มและเขียว : หากท่านเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร" โดยเชิญแกนนำ 4 พรรคการเมืองใหญ่เข้าร่วม ประกอบด้วย ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ : รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล, ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ : รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย : กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา และ ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย
* ปชป. ชี้หาก BEM ไม่ลดราคาก็ล้มกระดาน!
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้ รฟม. 2 ทางเลือกในกรณีที่รอผลการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด คือ 1. หากศาลมีคำพิพากษาว่าการยกเลิกประมูลชอบด้วยกฎหมาย และการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ไม่กีดกัน ขอเสนอให้ รฟม. เจรจากับ BEM ลดรับเงินสนับสนุนสุทธิจากรัฐในวงเงิน 78,000 ล้านบาท ให้เหลือใกล้เคียงกับ BTSC ที่เสนอในการประมูลครั้งแรก 9,000 ล้านบาท ถ้าไม่ยอมให้ยกเลิกและประมูลใหม่
และ 2. หากศาลพิจารณาว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าคดีใดคดีหนึ่ง ขอให้ รฟม.ให้ยกเลิกประมูล เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าไปอีก เพราะคดียังอยู่ในศาลชั้นต้น ในขณะที่งานโยธาฝั่งตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะล่าช้าอีกและภาครัฐจะเสียค่าบำรุงรักษา โดยส่วนตัวสนับสนุนให้ รฟม.ยกเลิกการประมูลและเปิดประกวดราคาใหม่
ส่วนปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวทางพรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางที่ตนได้พูดตลอดมา ประกอบด้วย 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 ชำระหนี้ให้ BTSC แล้วเปิดประมูลหาผู้เดินรถไฟฟ้าใหม่ก่อนถึงปี 2572 และทางเลือกที่ 2 หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ BTSC เช่นเดียวกับที่ รฟม.แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนหลักให้ BEM
“พรรคเรามีแนวคิดเสนออัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 50 บาทตลอดวันแบบไม่อั้น มั่นใจว่าทำได้แน่นอน ไม่กระทบสัมปทาน เพราะที่ผ่านมาค่าโดยสารแพง ส่วนการประมูลสายสีส้มต้องแก้ปัญหาคดีพิพาทก่อน ซึ่งเห็นต่างจากสภาผู้บริโภคที่ให้แยกเรื่องรายได้เชิงพาณิชย์เพราะอาจทำให้ค่าโดยสารแพงอีก และหากจะไม่ต่อสัญญาสายสีเขียวก็ต้องแก้สัญญาสายสีน้ำเงินที่ต่อไปถึง 2592 ถึงจะแก้ทุกระบบจริง”
.
*ก้าวไกลลั่น “ล้างไพ่-เปิดประมูลใหม่”
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ เพราะกังวลว่าจะมีการฟอกขาวให้ถูกต้อง โดยศาลอาจพิจารณาว่า ข้อมูลของ BTSC เป็นข้อมูลนอกสำนวน เพราะไม่เคยเปิดเผยว่า ถูกยกเลิกด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม เพราะข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่าปัจจุบันเอกชนเดินรถในไทยมี 2 รายใหญ่เท่านั้น ซึ่งการเข้าร่วมประมูลหากมีรายใดรายหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมจะเกิดปัญหา
“พรรคก้าวไกลชัดเจนว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มต้องประมูลใหม่อย่างเป็นธรรม จะเขียนเกณฑ์อะไร ข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่ามี 2 เจ้าใหญ่ที่เป็นเอกชนเดินรถไฟฟ้า และ 2 เจ้าใหญ่ต้องเข้าแข่งขันได้ จะไปเตะตัดขา เปลี่ยนเกณฑ์ตัดตอนเอกชนไม่ได้ ดังนั้นหากจะให้การประมูล เกิดขึ้นแบบเร็วที่สุด คือ ใช้สัญญาเดิมมาประมูลใหม่ และเปิดกว้างสองเจ้าใหญ่ต้องเข้าได้ ไม่ให้มีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท”
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัมปทานปี 2572 ยืนยันว่า ไม่ควรขยายสัญญาตามร่างสัญญาใหม่ที่จะต่ออีก 30 ปี แต่ควรดำเนินการตามตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และควรประมูลหาเอกชนเดินรถในสัญญาใหม่ แม้ว่า BTSC จะมีโอกาสกลับมาบริหารมากกว่าเอกชนรายอื่น เพราะพร้อมด้านระบบและการบริหารจัดการ แต่ต้องประมูลให้โปร่งใส นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่จะได้แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างราคาไม่ได้คิดเกินควร ถือโอกาสในการกางรายรับรายจ่ายแต่ละปีให้ชัดเจน ตัวเลขที่ยุติธรรมก็ต้องมีการศึกษาทั้งสายหลัก และส่วนต่อขยาย ดังนั้นสีเขียวควรเดินตาม พรบ.ร่วมทุน และเปิดประมูลใหม่
.
*ชาติไทยพัฒนาแนะล้มกระดาน !
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ว่าที่รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และกรรมการและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อมีข้อคลางแคลงใจเรื่องการประมูลทำให้มีต้นทุนสูงและประชาชนต้องรับภาระ ส่วนตัวมองว่าหากไม่โปร่งใสควรประมูลใหม่เพื่อพิสูจน์ความโปร่งใส
ขณะที่ปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องไปดูว่าเมื่อภาครัฐเป็นหนี้ต่อเอกชนจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง เร่งรัดให้เกิดการจ่ายหนี้ เพราะเชื่อว่าวันนี้ภาคเอกชนก็ไม่ได้ต้องการข้อเสนอต่อสัมปทาน
*สภาผู้บริโภคหนุนล้มประมูล-ล้างไพ่ใหม่
นางสาวสาลี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า จุดยืนของสภาผู้บริโภค คือ ต้องการผลักดันให้โครงสร้างรถไฟฟ้าเป็นของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาค่าโดยสารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งภาครัฐจะออกนโยบายตั๋วร่วมเพื่อลดค่าแรกเข้าระหว่างรถไฟฟ้าได้ด้วย โดยปัจจุบันมีเพียงรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เอกชนลงทุนงานโยธา ซึ่งกำลังจะหมดสัมปทานปี 2572 ดังนั้น สภาผู้บริโภคสนับสนุนไม่ให้ต่อสัมปทานเอกชน และนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาให้ภาครัฐบริหาร แต่ขณะนี้ภาครัฐผลักดันให้เอกชนเป็นเจ้าของโครงสร้างงานโยธาอีกโครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งจะทำให้ปัญหาค่าโดยสารแพงกลับมาอีก
สำหรับข้อเสนอของสภาผู้บริโภค ต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาค่าโดยสารแพง จึงขอให้ยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นงานโครงสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และแยกการบริหารการเดินรถทั้งเส้นทางช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งขอให้ภาครัฐใช้แนวคิด 3 จ เพื่อบริหารโครงการรถไฟฟ้า ประกอบด้วย 1. จ้างเอกชนก่อสร้างงานโยธา 2. จ้างเอกชนเดินรถ โดยใครให้ราคาถูกก็ให้สัมปทานไป 3. จัดการหารายได้เชิงพาณิชย์ เพื่อลดค่าโดยสารให้มากขึ้น
“อยากให้ทุกพรรคการเมืองทำให้สายสีเขียวและสายสีส้ม ลดความซับซ้อน ลดคดีความ ดังนั้นเมื่อมีรัฐบาลใหม่ต้องมาประมูลใหม่ให้โปร่งใส ควรแยกการทำสัญญาแบบ 3 ข้อเสนอนี้เพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่ม และเอกชนหลายรายร่วมประมูลได้ โดยเฉพาะการแยกสัญญางานโยธากับงานเดินรถออกจากกัน”
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม:
เนตรทิพย์:Special Report
ประมวลปมพิรุธประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ความสูญ(เปล่า)เสีย
http://www.natethip.com/news.php?id=6473
เนตรทิพย์:Special Report
ผ่าทางตัน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”
http://www.natethip.com/news.php?id=6253