การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ 6 พันธมิตรองค์กรธุรกิจ ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการสาธิตการจัดหาและใช้ประโยชน์พลังงานไฮโดรเจนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park และ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” พร้อมหาลู่ทางจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในเครือ กนอ. เพื่ออำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมในพื้นที่ฯ ให้กับผู้ให้บริการและผู้จัดหาพลังงานสะอาด สอดคล้องเป้าหมายประเทศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กนอ. ร่วมกับ 6 บริษัทไทย-ญี่ปุ่น ประกอบด้วย บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี), บริษัท ฮิตาชิโซเซน คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ สาธิตการจัดหาและใช้ประโยชน์พลังงานไฮโดรเจน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด”
โครงการความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือโดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการสาธิตการจัดหาพลังงานไฮโดรเจนและการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน เช่น การบริการรถโดยสารไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่นิคมฯ ดังกล่าว กับผู้ให้บริการและผู้จัดหาพลังงานสะอาดด้วย
“โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศในการบรรลุสังคมคาร์บอนต่ำผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนวิสัยทัศน์ "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาล ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาร่วมกันในอนาคต ผ่านการสนับสนุนโดยองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และแก้ปัญหาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายวีริศ กล่าว
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ต่อยอดจากบันทึกข้อตกลงเดิมเมื่อปี 2564 ที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้การจัดการโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาดประเภทต่างๆ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพ ตลอดจนการคมนาคมที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่โดยรอบ
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ในเฟสแรกที่ผ่านมานั้น มีการออกแบบภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหลักของนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งไม่เพียงแต่มีส่วนทำให้เกิดความเป็นกลางคาร์บอน (Carbon Neutral) แต่ยังสนับสนุนการพัฒนาโครงการต้นแบบ BCG ในประเทศไทยด้วย โดยออกแบบให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน และรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งคาดว่านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 73% ในปี 2578 เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้โครงข่ายสายส่งโดยเสรี ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสำหรับนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ยังต้องพิจารณาแผนเงื่อนไขการลงทุน หรือกรอบความร่วมมือต่อไป