
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วานนี้ (18 เมษายน 2568) ตนได้พบหารือกับ นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ นางสาวจาง เซียวเซียว อุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้า ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีโอกาสนำทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ไปให้ท่านเอกอัครทูตจีนได้ชิม ซึ่งได้รับคำชื่นชมว่าอร่อยมาก สมกับเป็นที่รับรู้กันว่า ทุเรียนไทยมีรสชาติที่พิเศษ อยากเห็นยอดการนำเข้าทุเรียนไทยไปจีนเติบโตต่อเนื่อง พร้อมทั้งอยากเห็นการนำเข้าเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดฤดูกาลที่ทุเรียนออกมาก

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ตนและนายอู๋ จื้ออู่ ได้พบหารือกันต่อเนื่อง ได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์การส่งออกทุเรียนกันโดยตลอด เพื่อให้มั่นใจว่า การส่งออกทุเรียนในปีนี้ จะเป็นไปอย่างราบรื่น กระจายสินค้าเข้าสู่จีนได้รวดเร็ว วันนี้ก็ได้แกะทุเรียนชิมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ทุเรียนไทย เป็นทุเรียนคุณภาพสูง รสชาติชั้นเยี่ยม ตนได้เน้นย้ำให้ทางการจีนผ่อนปรนมาตรการตรวจสอบสารปนเปื้อน พร้อมทั้งขอให้เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจผ่านด่าน เพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่จะส่งออกไปยังตลาดจีนในช่วงฤดูผลไม้
พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำจากทางการจีนว่า ควรจัดเกรด ควบคุมคุณภาพของล้งในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากล้งใด มีสินค้าคุณภาพสูง ไม่ตรวจพบสารอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถใช้วิธีการสุ่มตรวจบางส่วน หรือตรวจน้อยลง ซึ่งจะได้ประสานคำแนะนำนี้ไปยังกรมวิชาการเกษตรต่อไป

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 833,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97.4 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงมีแคมเปญเพื่อสร้างภาพลักษณ์ และส่งเสริมการขายทุเรียนไทยในตลาดจีน ด้วยกลยุทธ์ครบวงจร มุ่งสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ ขยายช่องทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภค หวังขยายตลาดในจีนได้อย่างต่อเนื่อง
1. สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนไทยโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทำงานร่วมกับพาณิชย์จังหวัด เน้นจุดเด่นด้านรสชาติ คุณภาพ และความแตกต่างจากคู่แข่งและประสานงานกับด่านศุลกากรและผู้นำเข้า อำนวยความสะดวกด้านการค้าผ่านการอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์
2. ขยายตลาดออนไลน์ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ (KOLs) และไลฟ์สตรีมเมอร์ บน Douyin (TikTok), Weibo และ Xiaohongshu สร้างคอนเทนต์โปรโมตทุเรียนไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ และจับมือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เช่น ทีมอล (Tmall) และเจดีดอตคอมป์ เปิดตัวแคมเปญ “Thai Fruit Golden Month Online” กำหนดวันที่ 5 เดือน 5 เป็นวันทุเรียนไทย สร้างจุดขายให้ตรงกับช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผลผลิต

3. ดันยอดขายผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติโดยนำทุเรียนไทยเข้าร่วม งานแสดงสินค้านำเข้าในเมืองใหญ่ เช่น งานแสดงสินค้าอาเซียน-จีน และเชิญผู้นำเข้าจีนมาร่วมงานแสดงสินค้าในไทย เช่น THAIFEX เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจโดยตรง
4. กระตุ้นการบริโภคผ่านกิจกรรมพิเศษ โดยร้านอาหารไทยและคาเฟ่ในจีน นำเสนอเมนูพิเศษ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีมหมอนทอง และเครื่องดื่มจากทุเรียน รวมถึงการกิจกรรม “ทุเรียนทัวร์” ในซูเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้า พร้อมบุฟเฟ่ต์ทุเรียนในงานเทศกาลไทย
