ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันให้ไทยเข้าร่วม CPTPP โดยอ้างว่าจะช่วยให้จีดีพีขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 13,300 ล้านบาท
แต่การเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว มีประเด็นที่อ่อนไหวหลายประการ โดยเฉพาะภาประชาชนห่วงว่า จะเกิดกระทบต่อภาคเกษตร เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช
ดังนั้น สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APSA) และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (ThaSTA) จึงจัดสัมมนาขึ้นในหัวข้อ CPTPP : เกษตรกรไทยเสียเปรียบจริงหรือ?
นายพรชัย ประภาวงษ์ ผอ.ส่วนอเมริกาเหนือ สำนักอเมริกา แปซิฟิก และองค์กรระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการสัมมนา กล่าวว่า CPTPP ก็คือเขตการค้าเสรี (FTA) เพียงแต่ CPTPP จะมีรายละเอียดมากกว่า FTA และเขาคุยกันมาเป็น 10 ปีแล้ว
ถ้าถามว่าประเทศไทยอยู่ในจุดไหนของ CPTPP ในขณะนี้
นายพรชัยกล่าวว่า อยู่ระหว่างดูข้อเสนอในการเข้าไปร่วมเจรจา พูดง่ายๆ ว่า แค่คิดว่าจะไปร่วม CPTPP หรือไม่ ในห้วงที่ผ่านมาทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน รอบคอบที่สุด ดูเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ รวมทั้งออกไปรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศ
ปรากฏว่า มีทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วม CPTPP และข้อกังวลถึงผลกระทบด้านต่างๆ ทางกรมฯ จึงนำข้อมูลเหล่านี้เสนอเข้าไปในระดับนโยบาย คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนนี้กรมฯ จึงหมดหน้าที่แล้ว เพราะเรื่องไปอยู่ที่ระดับนโยบาย และมีการตั้งกรรมการวิสามัญในสภาฯ เพื่อถกเถียงหารือเรื่องดังกล่าว ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.
นายพรชัย กล่าวย้ำว่า ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP จะต้องเจอกับความท้าทายในหลายเรื่อง เช่น การเปิดตลาดสินค้าและบริการในระดับสูง การเปิดตลาดขั้นต่ำการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การห้ามเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างถาวร และสิ่งที่พวกเรากังวลจนต้องมานั่งสัมมนากัน คือ การเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991)
ทางด้าน น.ส.ธิดากุญ แสนอุดม ผอ.กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งปัจจุบันมี 95 ประเทศทั่วโลก เป็นสมาชิก UPOV1991
การปรับปรุงพันธุ์ เป็นพันธุ์พืชใหม่ ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์อย่างหนึ่ง และถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ UPOV1991 ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และกระตุ้นให้มีพันธุ์พืชใหม่ๆ ออกสู่สังคม เพื่อประโยชน์ทางสังคม โดยประเทศเวียดนามเป็นสมาชิก UPOV1991 มานับ 10 ปีแล้ว ส่วนไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก UPOV1991
แต่ไทยใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 ซึ่งมีรายละเอียด มีความเข้มงวดต่ำกว่า UPOV1991 ดังนั้น แม้ว่าเวียดนามกับไทยมีสภาพพื้นที่ และพันธุ์พืชที่คล้ายกัน แต่เวียดนามมีระบบการคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ และพันธุ์พืชใหม่ที่สูงกว่าไทย แน่นอนว่าการได้เปรียบเรื่องการค้า การลงทุนก็ต้องไปเวียดนาม
น.ส.ธิดากุญ กล่าวอีกว่า UPOV1991 จะเกี่ยวข้องกับพันธุ์พืชใหม่ที่จดทะเบียนคุ้มครองเท่านั้น ส่วนพันธุ์พืชดั่งเดิม พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ท้องถิ่น และพืชป่า ไม่มีผลกระทบ และไม่กระทบสิทธิอะไรเลย ถ้าไทยจะไปสมาชิก UPOV1991 หรือเข้าร่วม CPTPP พูดง่ายๆว่ารัฐจะดูแลชาวนา เกษตรกร ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือไม่ได้รับผลกระทบเลย เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าว 80-90% เป็นของหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบใดๆ หรือแม้แต่สมุนไพรดั่งเดิม เรายังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่ จากรายงานของ UPOV1991 ยังไม่เคยมีการฟ้องร้องเกษตร มีแต่บริษัทเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นคู่แข่งกัน ฟ้องร้องกันเองมากกว่า
ขณะที่ ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่าที่เป็นห่วงกันมาก คือ บริษัทข้ามชาติจะเข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชหรือไม่?
โดยส่วนตัวขอตอบว่า สิ่งที่ผูกขาดในประเทศไทย คือ ไฟฟ้า-ประปา-โรงงานยาสูบ เพราะมีกฎหมายรองรับ แต่ผลิตภัณฑ์หรือเมล็ดพันธุ์พืชมีมากมาย และหลายชนิดใช้ทดแทนกันได้ อย่างนี้ไม่ใช่การผูกขาด ในเมื่อมีสินค้าทดแทนแล้ว จะผูกขาดได้อย่างไร
ไม่ได้ “ผูกขาด” แต่เราอาจถูกครอบงำ! ก็ต้องถามว่า สามารถครอบงำ หรือบังคับกันได้หรือ ว่าคุณต้องกิน หรือต้องปลูกมะเขือเทศพันธุ์นี้เท่านั้น ดังนั้นจึงครอบงำกันไม่ได้หรอก
ดร.ชัยฤกษ์ กล่าวตบท้ายว่า ถ้าเราเข้า CPTPP และเข้าไปเป็นสมาชิก UPOV1991 เชื่อว่า เกษตรกรไทยไม่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด แต่คนที่จะได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจที่ขโมยเมล็ดพันธุ์พืชของคนอื่นมาใช้เท่านั้น
คำถามเกี่ยวข้องกับอนุสัญญา UPOV 1991
คำถามที่ 1 หากประเทศไทยเป็นสมาชิก UPOV1991 เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนปกป้องสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ ได้ เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกต่อได้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อการยังชีพ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์ที่จดขึ้น ทะเบียนปกป้องพันธุ์ไว้ (มาตรา 15.2) แต่หากเกษตรกรต้องการที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้เพื่อทำการขยายพันธุ์และขายเมล็ดที่ได้ หรือขายส่วนขยายพันธุ์ส่วนอื่นๆ (เช่น หน่อ กิ่ง) จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของสายพันธุ์ก่อน
คำถามที่ 2 การนำเมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนคุ้มครองสายพันธุ์ไปแลกเปลี่ยนกันในชุมชนหรือในท้องถิ่นนั้น ทำได้หรือไม่ เกษตรกรจะมีความผิดหรือไม่
คำตอบ ไม่มีความผิด ในกรณีที่เกษตรกรต้องการที่จะแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่นของตนเองเพื่อการยังชีพ หรือเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
คำถามที่ 3 เกษตรกรสามารถนำผลผลิต เช่น ข้าวที่ได้จากการใช้เมล็ดที่ได้รับการคุ้มครองไปขายในตลาดได้หรือไม่
คำตอบ ได้เพราะเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองสายพันธุ์ใหม่ของนักปรับปรุงพันธุ์อย่างถูกต้อง ถือว่าเกษตรกรได้รับอนุญาตให้ใช้เมล็ดพันธุ์ เพื่อการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ เพื่อขายสำหรับการบริโภค (มาตรา 16) ได้
คำถามที่ 4 สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์มีอะไรบ้าง
คำตอบ ก่อนที่นักปรับปรุงพันธุ์จะได้รับการคุ้มครองนั้น นักปรับปรุงพันธุ์จะต้องผ่านการตรวจสอบลักษณะของสายพันธุ์ทั้ง ทางด้านกายภาพ และพันธุศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ว่าพันธุ์ที่ขอรับการคุ้มครองนั้นเป็นพันธุ์ใหม่โดยผ่านหลักเกณฑ์ ดังนี้..
(มาตรา 5) 1) ความใหม่ 2) ลักษณะประจำพันธุ์ที่แตกต่างจากพันธุ์อื่น 3) ความสม่ำเสมอของลักษณะประจำพันธุ์ และ 4) ความคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์ โดยที่ความใหม่ของพันธุ์พืชนั้น นับจากวันที่ยื่นคำขอคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ จะต้องยังไม่มีการขายหรือแจกจ่ายส่วนขยายพันธุ์ หรือสิ่งที่เก็บเกี่ยวได้ไปให้แก่บุคคลอื่น ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
สำหรับการขอคุ้มครองในประเทศที่ยื่นจด หรือไม่เกิน 4 ปี ในกรณีพืชเกษตรทั่วไป หรือ 6 ปี ในกรณีพืชยืนต้นหรือไม้เถา สำหรับการคุ้มครองในประเทศอื่นที่เป็นภาคีสมาชิก UPOV 1991 เมื่อได้รับการคุ้มครองแล้ว นักปรับปรุงพันธุ์จะได้รับความคุ้มครองในทุกส่วนขยายพันธุ์ของสายพันธุ์นั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำสายพันธุ์ไปขยายพันธุ์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการลอก หรือปลอมแปลงสายพันธุ์ และนำมาขายลอกเลียนแบบในตลาด หรือการเจตนาทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างจากสายพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองเพียงเล็กน้อยในเชิงรหัสพันธุกรรมหรือกายภาพ (essential derived variety-EDV) เพื่อนำเมล็ดหรือส่วนขยายพันธุ์มาขายในตลาดสิทธิ์ทั้งหมดนี้รวมไปถึงการเจตนาปลอมแปลงสายพันธุ์เพื่อการส่งออก หรือนำเข้ามาในประเทศด้วย (มาตรา 14)
คำถามที่ 5 เกษตรกรจะถูกจับกุมดำเนินคดีไหม หากขายต่อเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญา UPOV1991 เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
คำตอบ การดำเนินคดีเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของสิทธิในสายพันธุ์ ที่จะสืบหาข้อเท็จจริงและตัดสินใจว่าดำเนินคดีหรือไม่ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่เกิดเหตุละเมิด ทั้งนี้การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้กระทำความผิดมี “เจตนา” หรือ “ความพยายาม” ที่จะละเมิดเพื่อนำพันธุ์คุ้มครองไปขายเป็นเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นหากพิสูจน์ได้ว่า การได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่เป็นข้อสงสัยนั้นเป็นไปโดยสุจริต เกษตรกรเหล่านั้นย่อมได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินคดี
โดย..เสือออนไลน์