ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.62 มีนักวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชนหลายคนบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยาก ถึงยากมาก!
แต่เมื่อ 2 วันก่อน ได้ยินนักวิชาการทางกฎหมายแถวๆ รามคำแหง บอกว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ยาก! ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีความจริงใจ และเปิดไฟเขียว ก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเสียงเรียกร้องของม็อบนักเรียน นักศึกษาได้
เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ สามารถพูดคุยรู้เรื่องกับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้ง ส.ว.ลากตั้ง 250 คน และอีกหลายคนในองค์กรอิสระ
รัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยในโลกนี้ สามารถปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้ทันกับยุคสมัยได้ทั้งนั้น
ดังนั้น หลายๆคนจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จึงปล่อยให้มีการเล่น “ลิเก” เพื่อถ่วงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอยู่ได้ ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยพูดอยู่เสมอว่าไม่ได้ต้องการมีอำนาจ และไม่ได้หวงอำนาจ หรือว่าสิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงการ “ผายลม” ไปวันๆ
ย้อนไปช่วงปลายเดือน ก.ย.63 มีการประชุมร่วมของรัฐสภา ในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ แต่สุดท้ายมีคนในเครือข่ายของนายกฯ เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลา 1 เดือน จึงมาลงมติกันอีกครั้ง ซึ่งงานนี้บรรดาพรรคฝ่ายค้านไม่เล่นด้วย
พูดง่ายๆ ว่า เตะถ่วงออกไปได้อีก 30 วัน แต่เมื่อมีม็อบนักเรียน นักศึกษา และประชาชน (ม็อบราฎร 63) ออกมากดดันหนักๆ ทางสถาบันพระปกเกล้า และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ก็เออออห่อหมกจะตั้ง “คณะกรรมกาคสมานฉันท์” ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและการแตกแยกของคนในชาติ
ทั้งที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์กันขึ้นมาหลายชุด ใช้เงินงบประมาณไปจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อปี 57 รัฐบาล คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการในลักษณะนี้ขึ้นมาหลายชุด ด้วยการใส่เงินให้กระทรวงมหาดไทย และ กอ.รมน. ลงไปทำงาน
แต่ผลที่ได้รับก็เห็นๆ กันอยู่ คือ คนไทยกลับขัดแย้งแตกแยกกันรุนแรงหนักขึ้นกว่าในอดีต เมื่อดูจากสภาพความเป็นไปแล้ว คณะกรรมการสมานฉันท์ที่นายชวนเป็นตัวตั้งตัวตี จะไปคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อชักชวนเข้ามาช่วยเป็นกรรมการสมานฉันท์ คงแจ้งเกิดยาก เหมือน ”เข็นครกขึ้นภูเขา”
ท้ายสุดเมื่อเล่นเกมถ่วงเวลามาเยอะแล้ว เครือข่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.ลากตั้ง ก็ร่วมกันเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยช่องทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) สามารถทำได้หรือไม่?
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณา ตามมาตรา 210 (1) และ (2) รวมทั้งมาตรา 256 (9) ของรัฐธรรมนูญปี 60 ในขณะที่คนทางฝั่งประชาธิปไตย แค่ได้ยินชื่อศาลรัฐธรรรมนูญ ก็พอจะทำนายทายผลกันได้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด
รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้! ถ้าพล.อ.ประยุทธ์จริงใจ และเปิดไฟเขียว “เคลียร์” ให้ทุกด่านผ่านตลอด!
แต่ทุกวันนี้สภาพการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เสมือนรู้เห็นเป็นใจ ปล่อยให้ “คณะลิเก” ออกมาเล่นถ่วงเวลากันคณะแล้ว คณะเล่า คล้ายกับคนเสพติดอำนาจ ยังไม่ยอม ”ลงจากหลังเสือ” ง่ายๆ!
เสือออนไลน์