นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนภาครัฐ และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนไทย เยือนซาอุดิอาระเบีย อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2566
นายสนั่น เปิดเผยว่า การเดินทางดังกล่าวเป็นความพยายามของภาครัฐภายใต้กระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยการประสานงานของ นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด และภาคเอกชนไทยนำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการเดินหน้าสานต่อความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียต่อเนื่อง และมีความคืบหน้าที่สำคัญ ดังนี้
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งสถานีบริหารน้ำมันในซาอุฯ เนื่องจากสถานบริการน้ำมันในปัจจุบันยังขาดความสะดวกอีกหลายอย่าง กลุ่มธุรกิจซาอุฯ จึงได้เชิญชวนให้ ปตท.มาเปิดสถานบริการน้ำมันพร้อมกับพื้นที่ค้าขาย ห้องน้ำที่เหมาะสมต่อการใช้งานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นเดียวกับรูปแบบในไทย นอกจากนี้ ปตท. ยังอยู่ในระหว่างหารือการร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อย่าง green hydrogen ในประเทศไทย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางในการเป็น supply ให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัจจุบันสำเร็จเฟส 1 ไปแล้ว และจะเริ่มเฟส 2 ในเร็วๆนี้
ด้าน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) คาดว่าจะเปิดสำนักงานที่ซาอุฯ ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ และสนใจลงทุนในกลุ่มธุรกิจและพัฒนา Construction ecosystem เพื่อขยายไปสู่ supply chain ในด้านอื่นๆในซาอุฯ เช่น ธุรกิจ packaging และ pvc เป็นต้น
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มีความสนใจและเห็นโอกาสในการทำธุรกิจเกี่ยวการพัฒนา aquaculture และไก่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ Neom food company บริษัทในธุรกิจอาหารเพื่อลงทุนร่วมกันในอนาคต
ด้านสุขภาพ ผู้ประกอบการไทยอย่าง บริษัท เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เมเนจเมนท์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ได้ร่วมกับ Quality of Life Tourism Company ของซาอุฯ ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับ health & wellness center 3 โครงการ ทั้งในซาอุฯและไทย โดยมูลค่าการลงทุนรวมมากถึง 17,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อปี 2565 สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย กับ ซาอุดิอาระเบีย ได้มีการลงนาม MOU ความร่วมมือและจัดการแข่งขัน friendly match ระหว่างกันครั้งแรก ณ พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเดือนเม.ย ที่ผ่านมา และมีกำหนดจัดการแข่งครั้งที่ 2 ระหว่างกันในเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ ณ เมืองริยาด ซึ่งนอกจากเป็นการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การพัฒนาธุรกิจเกมส์ในไทย ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังมีแผนหารือกับบริษัท Savvy ของซาอุฯ เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจเกมส์ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
สำหรับภาคการเกษตรโดยเฉพาะการนำเข้าปุ๋ยของไทยจากซาอุฯ ที่ผ่านมา Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) บริษัทผลิตเคมีภัณฑ์และเหล็ก รายใหญ่ซาอุฯ มี market share ของธุรกิจปุ๋ยในไทยมากถึง 45% และเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยนั้น ยังแสดงความสนใจที่จะร่วมมือและขยายการลงทุนกับไทยในธุรกิจอื่นเพิ่มเติม เช่น Automotive, Chemical, Electronic และ Healthcare โดยที่ผ่านมา บริษัท SABIC มองว่า ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่ดี ซึ่งในช่วงปัญาหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนเมื่อปีที่แล้ว บริษัทยังคงส่งปุ๋ยให้ไทยอย่างต่อเนื่อง
ในด้านการท่องเที่ยว มีการตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวซาอุฯ ที่จะเดินทางมาไทยในปี 2566 ถึง 200,000 คน โดยมีการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/คน/ทริป ประมาณ 80,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง ทั้งนี้ ซาอุฯ ยังมีแผนเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางริยาด - ภูเก็ต ตลอดจนการเตรียมเปิดสายการบิน Riyadh Air โดยมีฝูงบินมากถึง 200 ลำ จากการขยายตัวภาคการท่องเที่ยวในข่วงที่ผ่านมา
สำหรับหนึ่งในโปรเจคใหญ่ของซาอุฯ อย่างโครงการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น ตามเป้าหมายของ Vision 2030 โดยมีแผนที่จะนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลกนั้น ปัจจุบันไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เริ่มส่งต้นไม้ไปยังซาอุแล้ว กว่า 200,000 ต้น โดยต้นไม้ส่วนใหญ่มาจาก จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี และถือว่ามีโอกาสให้ไทยในการส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ อีกมาก
นอกจากนี้ ฝ่ายซาอุฯ มีความยินดีที่จะให้ใช้ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการของซาอุฯ หาก Startup สองประเทศตกลงที่จะร่วมกันเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกัน และถ้าผู้ประกอบการ 2 ฝ่ายเกิดการร่วมทุนกันต่อเนื่อง หน่วยงานดังกล่าวพร้อมให้การสนับสนุน venture capital ให้อีกด้วย
ในการเดินทางมาในครั้งนี้ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังได้หยิบยกประเด็นการสนับสนุนการอีเว้นท์ระดับนานาชาติมาหารือกัน โดยซาอุฯ เสนอให้ไทยช่วยสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Saudi Expo 2030 ขณะที่ไทยเองก็ขอให้ซาอุฯ สนับสนุนการเสนอตัวชิงเจ้าภาพจัดงาน Phuket Expo 2028 เช่นเดียวกัน