ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 เวลา 11.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดและปาฐกถาในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 พร้อมด้วย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี นายเกา หยุนหลง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนมาเปิดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งที่ 16 ในวันนี้ ซึ่งช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้รับเชิญจากหอการค้าไทย-จีน เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมาแล้ว วันนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลก ใช้เวทีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุน เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน นักธุรกิจเชื้อสายจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลยังมีบทบาทเสมือนสะพานเชื่อมสำคัญระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับภาคธุรกิจเอกชนในนานาประเทศ
ปัจจุบันต้องถือว่าจีนก้าวมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก เป็นตลาดขนาดใหญ่ เป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับหนึ่งและเป็นผู้นำเข้าสินค้าอันดับสองของโลก ทำให้เศรษฐกิจจีนมีความต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศต่างๆเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมและเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับจีนในหลายมิติ ทั้งขับเคลื่อน FTA อาเซียน-จีน และผ่านความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีสมาชิก 15 ประเทศ มีไทยกับจีนอยู่ในนั้นด้วย
ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตนเร่งรัดขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าให้ลงลึกสู่ระดับมณฑลหรือระดับเมืองของประเทศคู่ค้า ที่เรียกว่า mini FTA ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ภายใต้รัฐบาลไทยได้ลงนามกับประเทศคู่ค้าแล้วจำนวนทั้งสิ้น 7 ฉบับ มี 3 ฉบับลงนามกับจีน ประกอบด้วย 1. มณฑลไห่หนาน 2. มณฑลการซู่ และ 3. เมืองเซินเจิ้น และในเดือน ส.ค. จะลงนามเพิ่มกับมณฑลยูนนานของจีนต่อไป กระทรวงพาณิชย์ไทยได้ทำ mini FTA อีก 4 ฉบับ กับ เมืองโคฟุ ประเทศญี่ปุ่น เมืองปูซานและจังหวัดคยองกีของเกาหลีใต้ และรัฐเตลังคานา ของอินเดีย และประเทศไทยกำลังเจรจาจัดทำ FTA กับอีกหลายประเทศซึ่งกำลังจะสำเร็จคาดว่าไม่เกิน 1-2 ปีนี้ กับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ กับยูเออี ปากีสถาน ศรีลังกา กลุ่มเอฟตา 4 ประเทศ (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) รวมทั้งกับตุรกี ถ้าสำเร็จจะส่งผลให้ไทยมี FTA กับต่างประเทศรวม 20 ฉบับ กับ 53 ประเทศทั่วโลก
เพื่อเรียนว่า ถ้าท่านมาทำการค้ากับประเทศไทย ไม่ว่า ส่งออก นำเข้าจากประเทศไทย รวมทั้งมาลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนจาก FTA ที่ไทย ทำ 20 ฉบับ กับ 53 ประเทศในอนาคตอันใกล้ด้วย ส่งผลให้การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดย IMD (International Institute for Management Development) ล่าสุดในปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลำดับดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การค้าระหว่างประเทศจากลำดับที่ 37 มาอยู่ที่ลำดับ 29 ดีขึ้น 8 ลำดับ โดยมีจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2013 และด้านการลงทุนระหว่างประเทศเลื่อนลำดับไทยให้สูงขึ้นถึง 11 ลำดับ จากลำดับที่ 33 เป็นลำดับที่ 22 โดยปี 2022 นักลงทุนชาวจีนมาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทยสูงถึงเป็นลำดับหนึ่งของโลก
รัฐบาลไทยมุ่งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาสำคัญที่สอดคล้องกับจีน ทั้งการเปิดกว้างทางการค้า การลงทุน การเชื่อมโยงเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ตลอดจนการขยายความร่วมมือในมิติต่างๆ สอดคล้องกับข้อริเริ่ม Belt and Road ที่จีนได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2013
“สำหรับการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งที่ 16 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ตนเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสและเวลาที่เหมาะสมที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบพัฒนาการทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางการค้า การลงทุนในปัจจุบัน ยังเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยแสดงศักยภาพการเป็นเจ้าบ้านที่ดี การร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักธุรกิจชาวจีนรวมทั้งการต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและครอบครัวอย่างอบอุ่น ตามมิติความสัมพันธ์ที่เราได้ยินตลอดมาว่า ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน เพื่อให้เกิดความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในความสัมพันธ์ การประชุมนี้นอกจากเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทัศนคติจากนักธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลกแล้วประเทศไทยได้จัดโปรแกรมสันทนาการให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง การศึกษาดูงานศึกษาลู่ทางทางธุรกิจและการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เป็นโอกาสดีที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพัฒนาการและศักยภาพของประเทศไทยว่ามีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างไร ประเทศไทยยินดีต้อนรับทุกๆท่านรวมทั้งครอบครัวที่เดินทางมายังประเทศไทย ขอขอบคุณและขอให้มีความสุขตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว