นอกจากนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ประมาณ 5.5 แสนล้านบาทแล้วนั้น รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ยังไม่มีโครงการเมกะโปรเจคต์เหมือนกับ “รัฐบาลชินวัตร” ในอดีต
เพราะอะไร? เพราะแค่เก็บกวาดเมกะโปรเจคต์ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นทำค้างคาไว้ ก็ทำไม่ไหวแล้ว!
ไม่ว่าจะเป็นโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเริ่มต้นมากว่า 4 ปี แต่ยังไม่มีโรงงานมาตั้งในพื้นที่อีอีซี (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) แม้แต่โรงงานเดียว
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสร้างสนามบินอู่ตะเภา-การพัฒนาเมืองใหม่อู่ตะเภา วงเงินการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ยังต้วมเตี้ยมไม่ไปไหน
โครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรก กรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งทำเฟสแรกก่อน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 250 กม. มีการปักหมุดวางศิลาฤกษ์ ลงมือก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปี 60 จนถึงปัจจุบันเดือน พ.ย.66 ก่อสร้างคืบหน้ายังไม่ถึง 40% เลย!
ถึงบอกว่า รัฐบาลนายเศรษฐา เคลียร์โครงการเหล่านี้ให้เสร็จเรียบร้อยก็ถมเถไปแล้ว และถ้านายเศรษฐาไม่ช่วยตามจี้โครงการเหล่านี้ ไม่แน่ใจว่าจะเสร็จ-สำเร็จภายในปี 70 หรือไม่?
แต่จะว่าไม่มีโครงการเมกะโปรเจคต์ในรัฐบาลนี้ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เนื่องจากปัจจุบันนายเศรษฐากำลังผลักดันผลการศึกษาความเป็นไปได้ “โครงการแลนด์บริดจ์” เชื่อมทะเลอ่าวไทยที่ จ.ชุมพร กับทะเลอันดามัน จ.ระนอง ด้วยท่าเรือน้ำลึกที่ชุมพร-ระนอง เชื่อมบนบกด้วยมอเตอร์เวย์-รถไฟ และท่อส่งน้ำมัน มูลค่าโครงการประมาณ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากนายเศรษฐาจะนำโครงการแลนด์บริดจ์ออกไป “โรดโชว์” ในการประชุมเอเปค ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย.66
ในอดีตเคยมีการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์กันมา 20-30 ปี แล้ว ตั้งแต่บริเวณกระบี่-ขนอม และปากบารา จ.สตูล-ท่าเรือสงขลา แต่ไม่สำเร็จ
จนกระทั่งมีการปัดฝุ่นลงมือศึกษากันอีกครั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยกระทรวงคมนาคม และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ลงมือศึกษาความเป็นไปได้จนล่วงเลยมาถึงรัฐบาลนายเศรษฐา โดยย้ายจุดใหม่มาอยู่บริเวณ จ.ชุมพร-ระยอง ด้วยระยะทางประมาณ 90 กม.
ประเด็นสำคัญของแลนด์บริดจ์ คือ เป็นทางเลือกใหม่ของการขนส่งสินค้า (ตู้คอนเทเนอร์) และการขนส่งน้ำมันทางเรือที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมีความแออัดมาก
1. มีเรือบรรทุกที่วิ่งผ่านช่องแคบมะละกา ประมาณ 80,000 ลำ/ปี และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ลำ/ปี ภายในปี 70
2. มีปริมาณน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ที่ต้องขนผ่านช่องแคบมะละกา-สิงคโปร์ วันละ 13-15 ล้านบาร์เรล โดยมีจุดหมายปลายทางที่จีน-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน-เกาหลี-ฮ่องกง-เวียดนาม-ไทย (ประเทศไทยใช้น้ำมันดิบวันละ 1 ล้านบาร์เรล)
3. เรือบรรทุกสินค้า-น้ำมัน ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา และรอเข้าเทียบท่าสิงคโปร์ เพื่อขนถ่ายสินค้าและเปลี่ยนเรือ ต้องใช้เวลารวมประมาณ 9 วัน
4. แต่ถ้ามาใช้บริการแลนด์บริดจ์ที่ระนอง-ชุมพร จะย่นเวลาเหลือแค่ 5 วัน โดยนึกภาพเรือบรรทุกเข้าเทียบท่าระนอง แล้วขนตู้คอนเทเนอร์ขึ้นรถไฟ มาลงเรือที่ชุมพร หรือส่งน้ำมันจากท่อที่ จ.ระนอง มาลงเรือที่ชุมพร โดยค่าขนส่งตู้สินค้าจะถูกลง (ต้นทาง-ปลายทาง) ประมาณ 15% เมื่อเทียบกับการขนผ่านช่องแคบมะละกา-สิงค์โปร์ ส่วนค่าการขนส่งน้ำมันจะถูกลง 6%
5. โครงการแลนด์บริดจ์จะบริหารจัดการแบบ “ซิงเกิล โอเปอเรเตอร์” ให้นักลงทุนที่สนใจวางรูปแบบการบริหารจัดการเอง และเอาเทคโนโลยีมาใช้เอง ซึ่งอาจทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าที่มีการศึกษาไว้อีก (6-15%) โดยรัฐบาลไทยไม่ต้องลงทุน แต่โครงการนี้เป็นการขาย “โลเคชั่น” ให้กับนักลงทุนที่สนใจ เพื่อเป็นเส้นทางการขนส่งแห่งใหม่ของโลก ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้ให้สัมปทานในกรอบเวลาตามกฎหมาย อาจจะ 30-40 ปี เหมือนกับอีอีซี ดังนั้นจึงไม่ต้องคิดแทนนักลงทุนว่าคุ้ม! หรือไม่คุ้ม! กับการลงทุนทำโครงการแลนด์บริดจ์
ส่วนเรื่องการตั้งโรงกลั่นน้ำมัน-โรงแยกก๊าซ ในพื้นที่ระนอง-ชุมพร เบื้องต้นยังไม่มีในแผนการศึกษา เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องไม่ต้องการจุดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงปล่อยให้เป็นนโยบายของรัฐบาลในอนาคตดีกว่า!
เสือออนไลน์