นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง บอกคนไทยและนักเรียนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดินทางไปประชุมเอเปค ที่นครซานฟรานซิสโก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ต้องการเข้ามาทำงานทางการเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและฐานะของคนไทย ให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
แต่ตราบใดก็ตามที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทย ยังโตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1.8% เหมือนในช่วงตลอด 9 ปีที่ผ่านมา จะไม่สามารถพ้น “กับดัก” ตรงนี้ไปได้ ไม่ต้องคิดที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400-600 บาท แล้วถ้ายังปล่อยให้ “จีดีพี” ขยายตัวแบบเรื้อรังไม่ถึงปีละ 2% ถามว่า นักธุรกิจ และบริษัทใหญ่ที่ไหนในโลก จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย?
นายเศรษฐาบอกว่า เมื่อสภาพเป็นแบบนี้ เขาจึงมองว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤติ และต้องมีโครงการขนาดใหญ่มากระตุ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน นั่นคือ.. โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ทำเพียงครั้งเดียวจบ! เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้ตื่นขึ้น
โครงการดังกล่าว ที่ล่าช้าเพราะต้องการรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ซึ่งประเด็นใหญ่ที่ถกเถียงกันคือปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤติ หรือวิกฤติ ถึงขั้นที่จะต้องแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 66 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จีดีพีในไตรมาส 3 ปี 66 ขยายตัวได้ 1.5% โดยชะลอลงจากไตรมาส 2 ปี 66 ที่ขยายตัวได้ 1.8%
เนื่องจากการส่งออกของไทยหดตัวติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาสในปีนี้ รวม 9 เดือนของปี 66 จีดีพีขยายตัวเพียง 1.9% และคาดทั้งปี 66 จีดีพีขยายตัว 2.5% ซึ่งในช่วงปลายปีนี้โมเมนตัมด้านการส่งออกเริ่มกลับมา ส่งผลดีต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ฟื้นตัวได้
สำหรับในปี 67 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปี 66 โดยคาดว่า จีดีพีปี 67 ขยายตัว 3.2% อยู่ที่ช่วง 2.7 - 3.7% จากแรงส่งด้านการส่งออกที่กลับมา แต่มีความเสี่ยงต้องติดตามหลายเรื่องทั้งการล่าช้าของงบประมาณปี 67 คาดว่า จะออกมาในเดือน เม.ย.67 ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรองรับการเบิกจ่าย และการหารายได้ การสร้างรายได้ของรัฐบาล
ทั้งนี้ การประมาณการจีดีพีปี 67 ยังไม่รวมนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท นอกจากนี้ในปี 67 ยังต้องให้ความสำคัญกับหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ เพราะยังเป็นตัวฉุดรั้ง
โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.7% ต่อจีดีพี และหนี้เอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดกลาง-รายเล็กยังต้องได้รับการแก้ไข จึงขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้ธุรกิจที่เกี่ยวกับก่อสร้างจากเงินลงทุนภาครัฐ เพราะได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณ และภาคอสังหาริมทรัพย์รายกลาง-รายเล็ก เริ่มมีปัญหาที่ต้องเร่งเข้าแก้ไข
เมื่อเห็นข้อมูลจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับจีดีพีในไตรมาส 3 ปี 66 แค่ 1.5% รวม 9 เดือนจีดีพีโตแค่ 1.9% ขณะที่งบประมาณปี 67 ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ กว่าจะคลอดออกมาก็ลากยาวไปถึงเดือน เม.ย. 67 แล้วเมื่อไหร่จะมีการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการของภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ
ดังนั้น ในช่วงระหว่างนี้ ไปถึงเดือน เม.ย. 67 ถ้าไม่มีเม็ดเงินจากโครงการขนาดใหญ่มากระตุ้นเลย และคิดว่าปี 66 จีดีพีขยายตัว 2.5% หรือ?
ส่วนที่คาดการณ์ จีดีพีปี 67 จะขยายตัวในช่วง 2.7 - 3.7% เป็นการฝันเฟื่องหรือไม่?
คือ คาดการณ์ตัวเลขไว้ให้สูงก่อน แต่พอต้นปีก็ออกมาปรับลดตัวเลข กลางปีปรับลด และปลายปีก็ปรับลดอีก!
“จีดีพี” ของประเทศไทยป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ 1.5 - 1.9% ข้าราชการที่มีเงินเดือนหลายหมื่นบาท นักการเมืองที่มีรายได้เดือนละกว่า 1 แสนบาท รวมทั้งนักการเงิน-การธนาคาร มีเงินเดือนหลายแสนบาท ไม่เดือดร้อนอะไร!
เศรษฐกิจยังไม่ถึงขั้นวิกฤติที่จะแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท คือ พูดได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร!
แต่ถ้าปล่อย “จีดีพี” ยังวนอยู่แค่ 1.5 - 1.9% ต่อไปเรื่อยๆ ประชาชนจมปลักอยู่กับความยากจน รัฐบาลถูกด่าจนหูชาอย่างแน่นอน ส่วนนายกรัฐมนตรีก็จะอยู่ลำบาก!!
เสือออนไลน์