บรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่ของ “การบินไทย” นั่นคือ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ นั่งกันไม่ติด!
เมื่อได้ยินข่าวว่า การบินไทยเตรียมซื้อเครื่องบินใหม่ ล็อตใหญ่จำนวน 80 ลำ มูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยจะเซ็นสัญญาภายในปีนี้ และต้องจ่ายเงินค่ามัดจำประมาณ 395 ล้านบาท แล้วทยอยส่งมอบเครื่องบินภายใน 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2570 - 2577
งานนี้ได้ข่าวว่า จะจัดซื้อแบบ “ฟูล อ็อบชั่น” ใหม่เอี่ยมอ่องมาเลยจากโรงงาน ทั้งเครื่องบิน เครื่องยนต์ เบาะนั่งผู้โดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งที่มีคนบอกกับ “เสือออนไลน์” ว่า เบาะนั่งผู้โดยสารทำในเมืองไทยได้ ในราคาถูกกว่า เวลาชำรุดก็ซ่อมแซมได้ง่ายกว่าของนอก
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65 ศาลล้มละลายกลางมีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ (ฉบับแก้ไขแล้ว) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
สำหรับเหตุผลที่ “การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า” ต้องขอฟื้นฟูกิจการ...
1. เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ของการบินไทย
2. เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับการชำระหนี้ไม่น้อยกว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้การบินไทยล้มละลาย
3. เพื่อให้การบินไทยพ้นจากสภาวะการหนี้สินล้นพ้นตัว สามารถฟื้นฟูกิจการ ดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
4. เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร โครงสร้างธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการหาแหล่งทุนใหม่และพันธมิตรในการประกอบธุรกิจ
จากข้อมูลทางการเงินเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 63 การบินไทยมีสินทรัพย์ (สินทรัพย์หมุนเวียน+สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน) 301,959,315,463 บาท แต่มีหนี้สิน (หนี้สินหมุนเวียน+หนี้สินไม่หมุนเวียน) 336,468,945,450 บาท โดยมีเจ้าหนี้กว่า 13,000 ราย
ดังนั้น หากปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย บรรดาเจ้าหน้าหนี้ทั้งหลายย่อมได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการนำทรัพย์สินของการบินไทยออกขายทอดตลาดเท่านั้น โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่ของการบินไทย เช่น เครื่องบิน เครื่องจักร อุปกรณ์เฉพาะทางนั้น เป็นทรัพย์สินที่เสื่อมสภาพได้ง่าย หากการบินไทยต้องล้มละลาย และไม่สามารถบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องได้
แต่การบินไทยยังมีทรัพย์สินและทรัพยากรที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้จำนวนมาก สามารถนำมาต่อยอดสร้างประโยชน์ต่อไปได้ เช่น พนักงานระดับปฏิบัติการที่มีความสามารถ ประสบการณ์ และใบรับรองคุณสมบัติเฉพาะทางมากมาย รวมทั้งสิทธิที่จะบิน การลงจอดในสนามบิน เวลาเข้า-ออกในการทำการบิน ภาพลักษณ์บริษัท (Branding) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศ-ต่างประเทศ ที่สั่งสมมาตลอดเวลากว่า 60 ปี เป็นจุดแข็งของธุรกิจที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้
หากการบินไทยล้มละลายไป เจ้าหน้าที่ทั้งหลายย่อมจะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในกรณีมีการ “ฟื้นฟูกิจการ”
ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตและเดินทางท่องเที่ยวกันตามปกติ จากข้อมูลผลประกอบการการบินไทย งวด 9 เดือนแรกของปี 66 มีผลกำไร 16,313,537 ล้านบาท ต่างจากช่วงเดียวกันของปี 65 ที่ขาดทุน 11,252,542 ล้านบาท โดยงบการเงิน ณ สิ้นงวด 9 เดือนปี 66 งบการเงินเฉพาะกิจการมีกระแสเงินสด 52,701 ล้านบาท แต่งบรวมอยู่ที่ 53,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
จากกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นสูงนั้น การบินไทยจะนำไปชำระหนี้ ทั้งเจ้าหนี้การค้า-เจ้าหนี้บัตรโดยสาร-เจ้าหนี้หุ้นกู้
แต่จากกระแสเงินสดที่มีในมือการบินไทยกว่า 5 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นรายได้จากการบิน จากการขายตั๋วโดยสาร+การขนส่งสินค้า หรือว่ามาจากการทรัพย์สินต่างๆ รวมอยู่ด้วย แต่เอาล่ะ! เมื่อสถานะทางการเงินดีขึ้น บรรดาเจ้าหนี้ก็พอที่จะมีความหวังกับการได้รับชำระหนี้คืนกลับมาบ้าง
แต่ทำไมจึงต้องรีบซื้อเครื่องบินล็อตใหญ่ถึง 80 ลำ มูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท ต้องกลายเป็นหนี้ก้อนโตผูกพันในระยะยาว หนี้เก่ายังใช้คืนไม่หมด แต่จะก่อหนี้ก้อนโตกันอีกแล้ว
งานนี้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ และผู้บริหารการบินไทย เตรียมตอบคำถามเจ้าหนี้รายใหญ่ให้ดีว่า โครงการใหญ่ที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้ มีการรายงานให้กรรมการเจ้าหนี้ทราบหรือไม่?
มีความมั่นใจอย่างไร? กับการลงทุนซื้อเครื่องบินถึง 80 ลำ จะทำให้การบินไทยมีความสามารถในการทำกำไรมาชำระหนี้เก่า-หนี้ใหม่ ได้หรือไม่? ต้องไปแก้แผนฟื้นฟูฯอีกหรือเปล่า? สร้างภาระหนี้ระยะยาวเกินกว่าแผนฟื้นฟูฯหรือไม่?
ที่สำคัญควรมีผลการศึกษาทางการเงิน-ทางธุรกิจ-ความเสี่ยงในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ธุรกิจการบินยังมีการแข่งขันกันสูงมาก ขณะที่ราคาตั๋วโดยสารของการบินไทยขายแพงกว่าชาวบ้านเขา มาประกอบให้ดูด้วย เนื่องจากเจ้าหนี้รายใหญ่กลัวว่าถ้าการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูฯ แล้ว อาจจะกลับไปเจ๊งอีกน่ะสิ!
เสือออนไลน์