ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 2.4% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3% หลังรายได้นักท่องเที่ยวโตน้อยกว่าคาด การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง คาดการณ์ปี 2567 เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวจากปีนี้ที่ระดับ 3% แนะภาคธุรกิจปรับตัว นำนวัตกรรมยกระดับการผลิต รับมือความท้าทาย และเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลง
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.4% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3% ปัจจัยหลักจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่า จะเข้ามาเพียง 27.5 ล้านคน จากคาดการณ์ราว 30 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว แม้ว่าอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศจะขยายตัวโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโต 7-8% แต่ผู้ผลิตไม่เติมสินค้าคงคลังหรือเติมไม่มากเท่าจำนวนที่ขายออกไป ส่งผลให้สินคงคลังปรับลดลง สะท้อนว่าผู้ผลิตไม่มั่นใจว่ายอดขายจะดีต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งปีจะติดลบที่ 1.6% จากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักฝั่งตะวันตกที่อ่อนแอลง จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อและการฟื้นตัวต่ำกว่าคาดของเศรษฐกิจจีน
สำหรับปี 2567 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3% ปรับลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.6% แต่หากนโยบาย Digital Wallet ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ถึง 4% ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังเผชิญความท้าทาย 3 ปัจจัย คือ 1. การส่งออกฟื้นตัวได้จำกัด จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงยาวนาน ซึ่งเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตช้าลงและอาจขยายตัวไม่ถึง 5% จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ 2. นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบาง และจีนมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการท่องเที่ยวในไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 32.9 ล้านคน 3. นโยบายการเงินของไทยที่ตึงตัวภายหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดปี 2566 ส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible lending) ของธปท.ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง โดยจะบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งอาจกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของครัวเรือน
ภาคธุรกิจยังต้องจับตาและเตรียมรับมือกับกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้นและกระแสแยกขั้ว (Decoupling) ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เข้มข้นและกระจายออกไปในหลายมิติ ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งสำคัญในหลายภูมิภาค ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเดือนมกราคม การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเดือนกันยายนและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน การปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไปสู่การเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะสร้างความผันผวนทางการเงินในช่วงการเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย
นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีมาตรการเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่เด่นชัดมากขึ้น เช่น การปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป การจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ของไทย และกระแส digital transformation ของภาคธุรกิจจากการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งผู้ประกอบการควรปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับความท้าทายและโอกาสจากเทรนด์โลกใหม่ๆ ด้วยการวางแผนบริหารความเสี่ยง ใช้เครื่องมือทางการเงินในการปกป้องหรือลดผลกระทบจากความผันผวน ขณะเดียวกันต้องเร่งปรับตัวให้การดำเนินธุรกิจมีความยืดหยุ่น สอดรับไปกับบริบทใหม่ของโลก รวมถึงการนำนวัตกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการผลิต จำหน่าย และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ช่วยลดต้นทุน และยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสร้างโอกาสใหม่ในการขยายตลาดไปยังผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพในอนาคต นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน