ป.ป.ช. ชี้สถานการณ์ทุจริตและคอร์รัปชันในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง! ดัชนี CPI ชี้โกงของไทย 10 ปี ไม่กระเตื้องอยู่อันดับ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลก แถมจ่อรั้งท้ายกลุ่มประเทศอาเซียนและต่ำกว่าเวียดนามแล้ว เหตุงานจัดซื้อจัดจ้างรัฐโกงได้ทุกขั้นตอน จนตัวเลขสถานการณ์ทุจริตปี 65 พุ่งคิดจรวด มูลค่าเสียหายกว่า 3,000 ล้าน วอนนายกฯ “เศรษฐา” ลงมาปราบโกงอย่างจริงจัง!
นายอนิวัต โพธิ์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยในงานกิจกรรมถอดบทเรียนแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมบรรษัทภิบาลคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐ ครั้งที่ 1 (ภาคการผลิต) ช่วงหนึ่งว่า สถานการณ์การทุจริตและคอรัปชันในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง โดยดัชนีรับรู้การทุจริตแห่งประเทศไทย (Corruption Preception Index) หรือ CPI เป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยจะพิจารณาจากแหล่งข้อมูลใน CPI ในด้านต่าง ๆ เช่น การจ่ายสินบน , การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interrest) , นโยบายรัฐในการแก้ไขปัญหาทุจริตและคอรัปชั่น,การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐและความโปร่งใสในระบบงบประมาณ เป็นต้น
ดัชนี้ CPI 10 ปี... ชี้ไทยอันดับโปร่งใสจ่อรั้งท้าย
"ดัชนี CPI ของประเทศไทยในรอบ 10 ปี โดยเริ่มจากปี 2555-2565 พบว่า ตัวเลขดัชนีอยู่ระหว่าง 35-36 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยเฉพาะในช่วงปี 2566 ดัชนี CPI ของประเทศไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับประเทศที่มีความโปร่งใสในอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนี CPI ในกลุ่มประเทศอาเชี่ยน 5 ประเทศ โดยสิงคโปร์ได้ 83 คะแนน , มาเลเซีย 50 คะแนน , เวียดนาม 41 คะแนน , ประเทศไทย 35 และอินโดนีเซีย 34 คะแนน เห็นได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความโปร่งใสแล้ว ประเทศไทยได้คะแนนน้อยกว่าประเทศคู่แข่งขันทางการค้าสำคัญอย่างเวียดนามด้วยซ้ำ”
คดีร้องโกงล้น ป.ป.ช. 10,000 คดี
นายอนิวัติ กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการกล่าวว่า ป.ป.ช. มีการดำเนินการไต่สอบคดีล่าช้านั้น เป็นเพราะขณะนี้มีคำร้องคดีส่งมาที่ ป.ป.ช. มากกว่า 10,000 คดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ต้องเข้ามาดูแลสำนวนคดีถึง 10 สำนวนต่อเจ้าหน้าที่ 1 คน และจะต้องพิจารณาแต่ละสำนวนคดีกันอย่างรอบครอบรัดกุม อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. มีการกำหนดระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการในแต่ละสำนวนคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 1 ปี ยกเว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศจะต้องพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสม
โกงระเบิดจัดซื้อจัดจ้างรัฐ... วอนนายกฯ ปราบโกงจริงจัง!
ทั้งนี้ มีการรายงานในเชิงลึกเพิ่มเติมจากสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะสถานการณ์การจ่ายสินบนในรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย รัฐต้องสูญเสียงบประมาณอย่างมาหาศาล โดยรูปแบบการทุจริตมีในลักษณะการจ่ายสินบน การใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิดโดยมิชอบ ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งการทุจริตเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดหางบประมาณ, การจัดทำร่าง TOR, การกำหนดราคากลาง, การประกวดราคา, การยื่นข้อเสนอราคา, การพิจารณาบริหารสัญญา, การตรวจรับพัสดุและการเบิกจ่าย โดยมีวิธีการทุจริตในหลากกลายลักษณะ ทั้งการสมยอมในการเสนอราคาหรือการฮั้วประมูล, การเรียกรับเงิน, การเอื้อประโยชน์ให้คู่สัญญา, การแบ่งซื้อและแบ่งจ้าง เป็นตัน
"จากการรายงานสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยในปี 2565 ของสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างมีจำนวนข้อกล่าวหาเข้ามาสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากข้อร้องเรียนการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำนวนสูงถึง 1,869 เรื่อง และมีมูลค่าจำนวนเงินทุจริตสูงถึง 3,044.81 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในระดับที่สูง ซึ่งแนวทางการป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนั้น นอกจากมาตรการป้องกันทางกฎหมายหมายแล้ว สิ่งสำคัญที่จะแก้หรือลดปัญหาทุจริตและคอร์รัปชันในประเทศไทยให้ได้ผลในระดับหนึ่ง ก็คือ จะต้องมีนโนยบายปราบปรามทุจริตและคอร์รัปชันมาจากผู้นำระดับสูงในประเทศ โดยเฉพาะในระดับนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงจะแก้ปัญหาทุจริตและคอร์รัปชันของประเทศให้ลดลง"