เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ บ่นกระจองอแงไปตามๆ กัน เมื่อมีข่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ ปลดล็อค! การนำเข้าโคเนื้อ-กระบือจากประเทศเมียนมา หลังจากเมื่อวันที่ 16 พ.ค.67 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) ครั้งที่ 2/67 โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
โดยที่ประชุมได้พิจารณาปลดล็อคการนำเข้าโคเนื้อ-กระบือจากประเทศเมียนมา ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโค-กระบือ และผลิตภัณฑ์ ได้จัดประชุมเพื่อศึกษาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องปริมาณโคเนื้อ ราคาจำหน่ายโคเนื้อ ปริมาณการนำเข้าส่งออก ข้อมูลการจับกุมโคเนื้อลักลอบนำเข้าประเทศ ตลอดจนศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้มงวดกวดขันเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ
ทั้งในเรื่องขั้นตอนการนำเข้าและการเคลื่อนย้าย การติดหมายเลขประจำตัวสัตว์ การฉีดวัคซีน การตรวจโรค การตรวจสารเร่งเนื้อแดง การขึ้นทะเบียนผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง การกำหนดโควต้าการนำเข้าและส่งออกให้ชัดเจน มีการขึ้นทะเบียนคอกโคขุนที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องไม่กระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศ
อีกทั้งยังให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจประเมินผล เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และใช้เป็นข้อมูลทบทวนมาตรการการปลดล็อค นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาโคเนื้อตกต่ำ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโค-กระบือ นำเสนอมาตรการส่งเสริมการตลาดและการแก้ปัญหาราคาโคเนื้อตกต่ำ คือ…
1. มาตรการการแก้ไขการใช้สารเร่งเนื้อแดงตลอดห่วงโซ่การผลิต 2. มาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าโคเนื้อ เนื้อโค กระบือ และเนื้อกระบือ 3. มาตรการผลักดันการใช้เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ประเภทเบอร์หู (NID) เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสินค้าโคเนื้อ กระบือ ทั้งระบบ 4. มาตรการส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณการบริโภคและสร้างความสามารถในการแข่งขันเนื้อโคในทุกตลาด และ 5. มาตรการในการนำเข้าและส่งออก โคเนื้อ-กระบือ มีชีวิต รวมทั้ง เนื้อโค-เนื้อกระบือ อีกทั้งยังเห็นชอบแผนการสร้างความมั่นคงด้านอาหารโคเนื้อ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตโคเนื้ออีกด้วย
“เสือออนไลน์” มีประเด็นฝากไปยัง ร.อ.ธรรมนัส ดังนี้ 1. เรื่องดังกล่าวผู้บริหารในกรมปศุสัตว์ไม่ค่อยเห็นด้วยใช่หรือไม่? หลังจากตรึงเรื่องปิดด่านเมียนมา มาประมาณ 1 ปี นับตั้งแต่ราคาโคตกต่ำ โดยอ้างว่าจะนำเข้ามาเพื่อส่งออก เรื่องนี้ไม่ใช่นโยบายที่ต้องการจะทำ หรือควรจะทำ เพราะการนำเข้าโคราคาถูกจากเมียนมา มาติดเบอร์หูไทยเพื่อส่งออกนั้น ต้องทำหลังจากระบบการควบคุมโรคในไทยดีแล้ว แต่การเอาของถูกจากต่างประเทศมาขายผ่านชื่อประเทศไทย ไม่ทำให้อุตสาหกรรมโคไทยยั่งยืน
2. Beef board อ้างนโยบายสนับสนุนการส่งออกไปใช้แบบผิดๆ หรือไม่? อย่างนี้เสียกำลังใจคนทำนโยบาย เราเปิดตลาดส่งออกแบบถูกกฏหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมโคเนื้อ ไม่ใช่ส่งเสริมให้ใช้โคเมียนมา ใส่สารเร่งเพื่อขุนให้ต้นทุนถูกที่สุด ขายให้ได้กำไรสูงสุด การนำเข้าโคเมียนมาทำได้ แต่กรมปศุสัตว์ต้องมีระบบควบคุมที่ดีแล้ว ซึ่งไม่ใช่ตอนนี้
3. ปัจจุบันราคาโคเนื้อในไทย กก.ละ 65-70 บาท (วัวเป็นๆ) ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 80-85 บาท ตอนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคก็เดือดร้อนกันอยู่แล้ว แต่กลับเอาโคจากเมียนมา ราคา กก.ละ 40 บาท อ้างว่ามาขุนเพื่อส่งออก เกษตรกรไทยยิ่งเดือดร้อนมากขึ้น
4. มีเสียงซุบซิบว่า พ่อค้าโคตามแนวชายแดนได้ประโยชน์กันเพียงไม่กี่ราย! แต่วงการคนเลี้ยงวัวไทยตายแน่นอน ท่ามกลางข้อสงสัยว่างานนี้ซื้อโคเมียนมาราคาถูกๆ แต่อาจจะต้อง “จ่ายใต้โต๊ะ” ตัวละ 2,000-3,000 บาท
5. รัฐบาลพยายามเจรจาส่งโคเนื้อไปประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ด้วยบรรยากาศกำลังไปได้ดี เพราะฝ่ายจีนเห็นว่าตั้งแต่ไทยปิดล็อคชายแดนมา 1 ปี ปัญหาโรคปาก-เท้าเปื่อยในโคดีขึ้นตามลำดับ แต่เมื่อกระทรวงเกษตรฯ เปิดให้นำเข้าโคเนื้อจากเมียนมา แล้วปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นตามมา
ร.อ.ธรรมนัส และ Beef board ต้องเอา 5 ประเด็นข้อห่วงใยไปพิจารณาให้ดี เนื่องจากการพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าวยังไม่สายเกินแก้!!!
เสือออนไลน์