บริกส์ (BRICS) เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วปัจจุบันมีสมาชิก 9 ประเทศ ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และประเทศที่ขอเป็นสมาชิกใหม่ เช่น ไทย แอลจีเรีย โบลิเวีย เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.67 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
โดยกลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก และมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค.67 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สำหรับการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 15 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเอกสารการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS หลักการชี้แนะ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และกระบวนการขยายสมาชิก ซึ่งกำหนดกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จำนวน 6 ขั้นตอน และมีหลักการแนวทางสำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS ในการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ 3 เสา (1) การเมืองและความมั่นคง (2) เศรษฐกิจและการเงิน (3) ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและในระดับประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนเพิ่มขึ้นในคณะมนตรีฯ
ส่วนมาตรฐานและหลักเกณฑ์สำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น มีความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐสมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้งหมด ยอมรับถ้อยแถลงและปฏิญญาต่างๆ ของกลุ่ม BRICS เป็นต้น โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการยกร่างหนังสือแสดงความประสงค์ ระบุวิสัยทัศน์ของไทยที่ให้ความสำคัญต่อระบบพหุภาคีนิยมและการเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกลุ่ม BRICS
ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ความน่าสนใจ คือ การมีสมาชิกเป็นชาติมหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลในแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้ บราซิล ขณะเดียวกันเมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือ 45% ของประชากรโลก
แต่หากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก และที่สำคัญ คือ ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44% อีกด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือน ต.ค.66 ว่า BRICS เป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจแบบกว้าง ไม่มีข้อกำหนดการเปิดตลาด และสิทธิประโยชน์เหมือน FTA ทำให้เมื่อไทยเข้าร่วมกลุ่มจะถือเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจในอีกแง่มุม สามารถกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญในแต่ละทวีปทั่วโลก เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และนักลงทุนให้มีทางเลือกในการเข้าถึงตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า และการลงทุน โดยจะมีทางเลือกในการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นกับประเทศสมาชิก รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงเม็ดเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจในอีกฝั่งขั้วอำนาจของโลก
ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีบทบาทต่อการค้าของไทยถึงร้อยละ 22.8 ของการค้ารวมไทยทั้งหมด ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (G7) ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 26.2 ของการค้ารวมไทย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสโลกที่มีการแบ่งเศรษฐกิจออกเป็น 2 ขั้ว ที่ชัดเจนมากขึ้น โดย BRICS เป็นขั้วตรงข้ามของชาติตะวันตก ดังนั้นทางการไทยจะต้องรักษาท่าทีในการรับข้อตกลงใหม่ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อคู่ค้าในฝั่งตะวันตก และอาจนำมาซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมได้ในอนาคต ผู้ประกอบการ และนักลงทุนไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ประกอบกับดำเนินแผนทางธุรกิจและการลงทุนอย่างระมัดระวัง!
เสือออนไลน์