นายจุฬา สุมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี พร้อมด้วย นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ นายประชุม บุญเทียม รองผู้ว่า กกท. พร้อมคณะ ร่วมประชุมหารือความก้าวหน้า โครงการก่อสร้างศูนย์กีฬานานาชาติ (Thailand International Sports Park) ณ ห้องประชุมบอร์ดรูม สำนักงานอีอีซี อาคารโทรคมนาคมบางรัก
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าในการหารือครั้งนี้ ทาง กกท. พร้อมร่วมพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างโครงการศูนย์กีฬานานาชาติ บนพื้นที่เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ หรือ EEC Capital City จังหวัดชลบุรี บนที่ดินรวมประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์กลาง (Hub) การแข่งขันมหรรมกีฬา ศูนย์การฝึกซ้อมกีฬา ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและเสริมสร้างสมรรถภาพนักกีฬา ศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับโลก โดย กกท. จะพัฒนาเป็น “สปอร์ต พาร์ค” ขนาดใหญ่ที่มีหลายชนิดกีฬา (Multi-Sports)
โดยมีสนามกีฬาแห่งชาติ (National Stadium) แห่งใหม่ ความจุไม่น้อยกว่า 80,000 ที่นั่ง ตามมาตรฐานฟุตบอลโลก มีลู่วิ่ง 10 ช่องวิ่ง รองรับการจัดงานอีเว้นท์เทศกาลขนาดใหญ่ การจัดคอนเสิร์ตได้ ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Stadium) มีสนามวอลเลย์บอลในร่มแบบปรับอากาศ สามารถจุผู้ชมได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ที่นั่ง มีศูนย์กีฬาทางน้ำและพื้นที่สีเขียวที่มีความยั่งยืนมาตรฐานโอลิมปิก เป็นต้น ซึ่งคาดการมูลค่าการลงทุน “หลักหมื่นล้านบาท” โดยจะขอสนับสนุนงบจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง และเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนอีกส่วนหนึ่ง ภายใต้โมเดลโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน หรือ PPP
สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์กีฬานานาชาตินี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศของความเป็นเมืองน่าอยู่ เสริมสร้างสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน รวมทั้งสนับสนุนระบบนิเวศทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเป้าหมายภายในโครงการศูนย์ธุรกิจ และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ หรือ EEC Capital ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของ อีอีซี ที่จะสามารถรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีผู้เข้ามาอยู่อาศัยประมาณ 3 แสนคน ในระยะเวลา 10 ปี เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก ในปี 2580 และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจเชื่อมโยง อีอีซี เป็นเมืองต้นแบบที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมกรรมที่ทันสมัย
โดยโครงการ EEC Capital จะมีพื้นที่รวมประมาณ 14,000 ไร่ และจะรองรับโครงการที่สำคัญๆ เช่น โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) ที่มีความสนใจต้องการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ต่อไป