ไทยโชว์วิสัยทัศน์ระดับโลก! วางตัวสมดุลในที่ประชุม Summit on Peace in Ukraine ไม่ลงนามถ้อยแถลงกดดันรัสเซีย ชี้ต้องเจรจาสันติภาพอย่างสร้างสรรค์ พร้อมตั้งเป้าเข้าร่วม BRICS เดินเกมรับมือโลกเปลี่ยน
…
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ IMCT News ได้เผยแพร่บทความที่น่าสนใจในการประชุมของตัวแทนประเทศไทยในเวทีระดับโลก โดยเฉพาะการวางตัวที่เหมาะสมท่ามกลางความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจของโลกที่แบ่งขั้วแบ่งข้างกันอย่างชัดเจน ผ่านคอลัมน์ EDITOR TALK “ทนง ขันทอง” ที่เขียนถึงบทบาทตัวแทนประเทศไทย ในการประชุม Summit on Peace in Ukraine ที่จัดขึ้นที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15-16 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า..
"ประเทศไทยได้วางตัวอย่างสมดุลและเหมาะสมที่สุด โดยไม่ได้ลงนามในถ้อยแถลงปิดท้ายที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังและคืนดินแดนให้ยูเครนทั้งหมด ซึ่งสวนทางกับมติของชาติตะวันตกส่วนใหญ่ แต่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ไทยมองว่าหนทางยุติสงครามอย่างยั่งยืนคือการเจรจาสันติภาพที่เป็นกลางและสร้างสรรค์ โดยทุกฝ่ายต้องลดเงื่อนไข"
ขณะเดียวกันไทยก็พร้อมปรับตัวรับมือกับระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS ซึ่งจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทนำในอนาคต นับเป็นการเดินเกมนโยบายต่างประเทศที่เฉียบขาดและชาญฉลาดของไทยในยามที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่าน
ประเทศไทยวางตัวได้เหมาะสมในการประชุม Summit on Peace in Ukraine ที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจาก 92 ประเทศเข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับแผนสันติภาพสำหรับยูเครน หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น มีการออกคำประกาศจุดยืนให้เคารพและรับรองบูรณภาพของดินแดนของยูเครนทั้งหมด ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการเจรจาแผนสันติภาพกับรัสเซีย ปรากฏว่ามี 80 ประเทศลงนามสนับสนุนท่าทีนี้ แต่ไทยกับอาร์เมเนีย บาห์เรน บราซิล สำนักวาติกัน อินเดีย อินโดนีเซีย ลิเบีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สโลวาเกีย แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ได้ร่วมลงนามในคำประกาศ
คุณรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนไทยที่เข้าร่วมประชุมที่สำคัญในครั้งนี้
การไม่ร่วมลงนามของไทยในคำประกาศของที่ประชุม Summit on Peace in Ukraine นี้อาจจะตีความได้สองประเด็นคือ ประการแรกไทยขอวางตัวเป็นกลาง ไม่สนับสนุนหรือไม่คัดค้านมติของที่ประชุมส่วนใหญ่ที่ต้องการให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนและส่งมอบดินแดนทั้งหมดที่ยึดจากยูเครนกลับคืนไป ประการที่สองไทยไม่เห็นด้วยกับจุดยืนนี้ เพราะว่ามันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของความเป็นจริง
การประชุม Summit on Peace in Ukraine ล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มประชุมด้วยซ้ำ เพราะว่ารัสเซียไม่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมประชุม ในเมื่อสงครามยูเครนมียูเครนกับรัสเซียเป็นคู่กรณี แต่รัสเซียไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้แผนสันติภาพไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ในเชิงปฎิบัติ
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมซัมมิทครั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียได้ชิงแถลงจุดยืนของรัสเซียเพื่อตัดหน้าไปก่อน โดยปูตินเสนอว่า การเจรจาสันติภาพสามารถเริ่มต้นได้ทุกขณะ แต่ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่รัสเซียจะครอบครองสี่แคว้นของยูเครน - ลูฮันสก์ โดเน็ตสก์ ซาโปริเซีย และเคอร์ซอน รวมทั้งไครเมียร์ -- ต่อไป และยูเครนต้องวางตัวเป็นกลาง โดยจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต้ หลังจากนั้นยุโรปต้องเซ็นข้อตกลงความมั่นคงกับรัสเซียเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ปูตินออกมาแสดงจุดยืนด้วยอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่ายูเครนที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก เพราะว่ากองทัพรัสเซียได้เปรียบกองทัพยูเครนอย่างเทียบกันไม่ได้ในสงครามที่ยืดเยื้อกันมากว่า 2 ปีแล้ว ความจริงทั้งไครเมียร์และดินแดนทั้งสี่แคว้นของยูเครนเคยเป็นของรัสเซียมาก่อน มีการแบ่งดินแดนนี้ให้ยูเครนปกครองสมัยสหภาพโซเวียต และก่อนหน้านั้น พอโซเวียตล่มสลาย ยูเครนแยกออกมาเป็นประเทศอิสระจึงได้ดินแดนส่วนนี้ ซึ่งส่วนมากมีประชาชนที่มีเชื้อสายรัสเซียนไปด้วย
แต่ผู้ที่ปฏิเสธแผนสันติภาพของรัสเซียไม่ใช่ยูเครน แต่กลับเป็นสหรัฐและนาโต้ที่ต้องการให้ยูเครนทำสงครามต่อไปจนถึงทหารยูเครนคนสุดท้าย เพราะว่าเป้าหมายที่แท้จริงคือการใช้ยูเครนเป็นสงครามตัวแทนเพื่อทำให้รัสเซียอ่อนแอลง หรือเพื่อล้มรัสเซียไปเลยถ้าเป็นไปได้
ก่อนหน้านี้ มีการเจรจาแผนสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนหลังเกิดสงครามไม่กี่เดือน โดยตุรกีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่เมืองอิสตันบูล ตอนนั้นวอโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ พร้อมที่จะลงนามแผนสันติภาพกับรัสเซียแล้ว โดยยอมเสียดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และไครเมียร์เพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะประเมินดูแล้วกองทัพยูเครนไม่มีทางสู้รบกับกองทัพรัสเซียได้นาน
แต่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น บินเข้าไปในกรุงเคียฟ และหลอกล่อให้เซเลนสกี้ไม่ให้ลงนามแผนสันติภาพกับรัสเซีย โดยสัญญาว่า อังกฤษและตะวันตกจะให้ความช่วยเหลือและจะอยู่เคียงข้างยูเครนจนกว่าจะประสบชัยชนะด้วยการขับไล่กองทัพรัสเซียออกจากดินแดนยูเครน สงครามยูเครนจึงดำเนินมาถึงทุกวันนี้ โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อในระยะแรกจากสื่อ ผู้นำ และนักวิชาการตะวันตกเป็นระยะๆ ว่า รัสเซียไม่ได้เข้มแข็งจริง และยูเครนจะประสบชัยชนะในที่สุด แต่ยิ่งสงครามยืดเยื้อ ยูเครนยิ่งจะเสียหายบอบช้ำอย่างแสนสาหัส และยุโรปต้องทุ่มเงิน 100,000 ล้านยูโร และสหรัฐต้องควักเงิน 200,000 ล้านเหรียญ เพื่อช่วยเหลือยูเครน พร้อมทั้งส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้ ไม่นับการส่งทหารรับจ้าง หรือทหารโนโต้เข้าไปในยูเครนเพื่อช่วยรบกับรัสเซีย
เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ อดีต รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกได้เคยเสนอให้ชาติตะวันตกและยูเครนยอมรับการสูญเสียดินแดนของยูเครน ซึ่งมีสัดส่วน 20% ของดินแดนทั้งหมดของยูเครน ให้กับรัสเซียเพื่อแลกกับการรักษาดินแดนที่เหลือของยูเครน เพราะว่าอย่างไรเสียตามประวัติศาสตร์แล้ว ดินแดนเหล่านี้เคยเป็นของรัสเซียมาก่อน แต่ที่สำคัญที่สุดแผนสันติภาพนี้จะทำให้สงครามยูเครนยุติลง และจะทำให้รัสเซียไม่ต้องพึ่งพาจีนมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ดุลมหาอำนาจโลกเปลี่ยนไป สมัยที่คิสซิงเจอร์ ซึ่งในปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ในทศวรรษที่ 1970s ได้เดินเกมการเมืองระดับสูงเพื่อต่อสายสัมพันธ์กับจีน เพื่อแยกจีนออกจากโซเวียตในขณะที่สหรัฐกำลังทำสงครามเย็นกับโซเวียต ต่อมาเป็นที่ทราบกันดีว่าโซเวียตแพ้สงครามเย็น และล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1991
แต่ผู้นำของชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ต่างก็ไม่รับฟังข้อเสนอแผนสันติภาพ แต่กลับเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องทำสงครามตัวแทนกับรัสเซียให้ถึงที่สุด สงครามยูเครนนับวันมีแต่จะขยายความรุนแรง เพราะว่านาโต้ได้ส่งขีปนาวุธพิสัยไกลเพื่อให้ยูเครนยิงเข้าไปในเป้าหมายลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย และเตรียมที่จะส่งมอบเครื่องบินรบ F-16 ซึ่งสามารถบรรทุกหัวรบจรวดนิวเคลียร์ได้ให้ยูเครน ปูตินได้ขู่กลับว่าถ้าหากนาโต้ยังคงเดินหน้าขยายความรุนแรงของสงครามยูเครน รัสเซียอาจจะไม่มีทางเลือก และจำต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่ทรงอานุภาพและไม่มีชาติใดสามารถเทียบรัศมีได้
จะเห็นได้ว่า คำประกาศของที่ประชุม Summit on Peace in Ukraine ที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อรัสเซีย และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความจริงที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ไทยและประเทศอื่นๆที่ไม่ลงนามในคำประกาศแผนสันติภาพที่สวิสส่วนมากแล้วจะเป็นสมาชิกของ BRICS ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาราเบีย ยูเออี อินเดีย บราซิล ที่กำลังสร้างระเบียบการเมือง เศรษฐกิจและการเงินโลกใหม่ที่ออกจากอิทธิพลของตะวันตกที่มีมาช้านานกว่า 500 ปี ส่วนจีนไม่เข้าร่วมประชุม เพราะเล็งเห็นว่าไม่มีประโยชน์เนื่องจากรัสเซียไม่ได้รับเชิญเข้าประชุมด้วย
ท่าทีนี้ของไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนี้เหมาะสมแล้วกับผลประโยชน์ของประเทศที่ต้องรักษาความเป็นกลาง และในขณะเดียวกันมีการมองโลกด้วยสายตาของความเป็นจริง ในขณะที่ชาติตะวันตกกำลังเข้าสู่ยุคของความเสื่อมจากภาระหนี้ที่ไม่มีวันชดใช้ได้ และระบบการเงินที่กำลังล่มสลายจากหนี้ และความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยเมื่อเทียบกับจีนและประเทศเกิดใหม่
นอกจากนี้ การที่ไทยสมัครเป็นสมาชิกของ BRICS ในปีนี้ ถือว่าเป็นการเดินเกมนโยบายต่างประเทศที่ท้าทาย เพื่อบาลานซ์ความสัมพันธ์กับตะวันตก และมองได้ว่าเป็นนโยบายเหมาะสมที่สุด และสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง คาดว่าท่าทีของไทยในเวทีประชุมที่สวิสจะทำให้ไทยมีโอกาสสูงที่จะได้เข้าไปเป็นสมาชิกของ BRICS ที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมซัมมิทในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
ขอบคุณบทความ:
-By Thanong Khanthong, Editor IMCT News
-ภาพจากข่าวสด