อธิบดีบัญชา บุกเมืองเพชร ร่วมมือเกษตรกรชาวประมงและชุมชน ลุยจับปลาหมอคางดำ นำร่องตาม 5 มาตรการสำคัญกรมประมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จังหวัดเพชรบุรี "เอเลียนสปีชีส์ แห่งเมืองเพชร" ณ คลองบางทะลุ หมู่ที่ 3 ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายสมบุญ ธัญญาผล ประมงจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการกรมประมงในพื้นที่ เกษตรกรชาวประมงเข้าร่วม ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร
อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมประมงได้ออกมาตรการป้องกันและกำจัดปลาหมอคางดำ 5 มาตรการสำคัญ ดังนี้ 1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด 2) การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3) การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู 4) การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ และ 5) การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งได้ส่งไปยังทุกจังหวัดที่มีการพบปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยจังหวัดเพชรบุรีได้จัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจังหวัดเพชรบุรี ครั้งที่ 1/2567 ตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ 6/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจังหวัดเพชรบุรี ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยมีนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานการประชุม จัดทำร่างแผนปฏิบัติการ และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 10 กิจกรรม ภายใต้ 5 มาตรการของกรมประมงและได้ส่งให้กรมประมงพิจารณาดำเนินการแล้ว
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานสังกัดกรมประมงในจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการประมง และชาวประมงในพื้นที่ ได้จัดกิจกรรมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้สำเร็จอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม โดยการกำจัดปลาหมอคางดำใช้เครื่องมือประเภทอวนและแห ในพื้นที่บริเวณคลองทะลุ หมู่ 3 ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม และพื้นที่ต่อเนื่อง หมู่ 1 ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และเน้นการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของชุมชนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างความตระหนักในการป้องกันผลกระทบกับทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นของชุมชน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน ซึ่งภายหลังหลังจับขึ้นมาได้กว่า 250 กิโลกรัม พบว่าบางส่วนเป็นปลาตัวผู้ที่กำลังอมไข่อยู่ตัวละประมาณ 200 ฟอง เจ้าหน้าที่จึงนำส่งให้พัฒนาที่ดินในพื้นที่ นำไปทำปุ๋ยชีวภาพต่อไป
“ปัจจุบันมีการพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้ว 14 จังหวัด โดยกรมประมงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่พบปัญหาการแพร่ระบาด จัดทำร่างแผนปฏิบัติการ และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับ 5 มาตรการสำคัญของกรมประมง เพื่อเร่งดำเนินการตามเเผนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวประมงนำปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ อาทิ แปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ปลาป่น หมักทำน้ำปลา หมักทำปุ๋ยชีวภาพ และใช้เป็นปลาเหยื่อหรืออาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการแปรรูปไปแล้วกว่า 500 ตันทั่วประเทศ โดยกรมประมงและหน่วยงานในพื้นที่ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และหาช่องทางการขายและกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต อาทิ ร้านสะดวกซื้อ Modern Trade เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวประมงทั่วประเทศ เป็นการพลิกวิกฤตสร้างโอกาสต่อไป” นายบัญชา กล่าว