นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ถึงความคืบหน้าสำคัญของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) ว่าหลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการฯ อย่างรอบคอบ สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมนั้น โครงการฯ มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเมื่อ เริ่มดำเนินโครงการฯ แล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก ได้แก่ พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่ และพายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ และพายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน 2567 และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันแถลงรายละเอียดของโครงการฯ เพิ่มเติม ดังนี้
1. คุณสมบัติประชาชน ดังนี้
1.1 ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
1.2 สัญชาติไทย
1.3 มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
1.4 ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
1.5 ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท โดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ (1) เงินฝากกระแสรายวัน (2) เงินฝากออมทรัพย์ (3) เงินฝากประจำ (4) บัตรเงินฝาก (5) ใบรับเงินฝาก และ (6) ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1) – (5)
ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
1.6 ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
1.7 ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
1.8 ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
2. กำหนดการเข้าร่วมโครงการฯ
2.1 การลงทะเบียนประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” บนสมาร์ตโฟน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ์ในโครงการฯ ดังนั้น ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45 - 50 ล้านคน
2.2 การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ตโฟน สำหรับส่วนของการใช้จ่ายนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน ดังนั้น การลงทะเบียนผ่านสมาร์ตโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ตโฟนก่อนเป็นอันดับแรก
2.3 การลงทะเบียนร้านค้า ในเบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติมเพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้ทราบต่อไป
2.4 การใช้จ่ายในโครงการฯ มีรายละเอียด ดังนี้
1) เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
2) เงื่อนไขการใช้จ่าย
2.1) การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ซึ่งคำว่าซื้อขายแบบพบหน้านี้ จะมีการตรวจสอบ (1) ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการฯ (2) ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ และ (3) พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
2.2) การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้แม้จะอยู่ต่างพื้นที่
3) ประเภทสินค้า: สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้า Negative List เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ การใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะไม่รวมถึงบริการต่าง ๆ
3. ขั้นตอนการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
3.1 รูปแบบที่ 1 การยืนยันตัวตนและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567
3.2 รูปแบบที่ 2 การยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” มาก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2567 แล้ว จึงค่อยมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 ซึ่งจะทำให้คงเหลือขั้นตอนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ที่ง่ายและรวดเร็วกว่า
ดังนั้น จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนเตรียมการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และทำการยืนยันตัวตนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชัน “App Store” สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปพลิเคชัน “Google Play” สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ นำเสนอรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคม 2567
อนึ่ง ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ซึ่งพร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111
เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย