ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่บทความพิเศษ “จับข้าราชการ..ต้องจับ “เอกชน” ที่ติดสินบนด้วย” โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ..
อยากรู้มากว่าเอกชนที่ขายเครื่องออกกำลังกายให้ กทม. ทั้ง 7 โครงการ มูลค่า 77,735,290 บาท จะโดนลงโทษด้วยหรือไม่ จะโดนลงโทษกี่ราย และโทษเป็นอย่างไร หลังจากข้าราชการ 25 คนที่เกี่ยวข้องโดนลงโทษจากต้นสังกัดและส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แล้ว
เพราะเมื่อรู้ว่าเจ้าหน้าที่รับสินบนแน่ๆ ก็ต้องรู้ว่าใครให้ ต้องสอบต่อว่าเป็นการ “เรียกรับ” หรือ “เสนอให้” จากเอกชนรายใด จะโดยสมประโยชน์หรือจำยอมจ่ายเพราะถูกบังคับก็ตามที
เราต้องเอาจริงเรื่องนี้ เพราะหนึ่งในปัญหาคอร์รัปชัน คือ เอกชนผู้จ่ายหรือเสนอให้สินบนมักไม่ถูกลงโทษทางกฎหมาย ทำให้ต้นทางของสินบนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี การบังคับใช้กฎหมายลงโทษเอกชนที่ทำผิด จึงมีความสำคัญไม่ต่างกับการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำความผิด
ต่างชาติมีวิธีจัดการเอกชนที่ทุจริตอย่างไร!! ..
สหรัฐอเมริกาและหลายชาติยุโรปมีแนวปฏิบัติที่คนกลัวกันมาก คือเมื่อใดที่หน่วยงานรัฐพบเห็นข้อมูลหรือได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีใครอวดร่ำรวยผิดปรกติ ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยเกินฐานะ
เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบที่มาของรายได้เปรียบเทียบกับการเสียภาษีเงินได้ ภาษีการค้า การหมุนเวียนของเงินในธนาคาร ว่าถูกต้องสอดคล้องกันหรือไม่
ประชาชนและบริษัทที่ไปลงทุนค้าขาย ฝากเงินธนาคารหรือซื้อทรัพย์สินในประเทศอื่นก็ต้องรายงานต่อรัฐบาลของตนเช่นกัน และหากปรากฏหลักฐานว่า ใครไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ของประเทศอื่นเขาเหล่านั้น ก็จะโดนลงโทษในประเทศของตน โดยไม่สนใจว่าได้ถูกลงโทษในประเทศที่มีการติดสินบนด้วยหรือไม่
การทำเช่นนี้ได้ภาครัฐต้องมีระบบเก็บข้อมูลที่ดีจากภาคธุรกิจและประชาชน มีเทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าผลที่ได้นั้นเกินคุ้ม เพราะจะช่วยลดคอร์รัปชัน ป้องกันการทำธุรกิจผิดกฎหมาย การฟอกเงิน การหลีกเลี่ยงภาษี ยาเสพติด ฯลฯ
ที่สำคัญคือ ต้องตรวจสอบอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ไม่มองว่าเป็นภาระ ไม่เกรงใจ ไม่กลัวอิทธิพลใคร
ไทยมีกฎหมายครบ แต่กระจายอยู่ในมือหลายหน่วยงาน ..
เมื่อครั้งคดี “กำนันนก” เกิดกระแสสังคมสนใจแบบเกาะติด ทำให้หลายหน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบสิ่งผิดปรกติพร้อมกัน จัดว่าเป็นเรื่องพิเศษมาก เพราะเราไม่เคยได้ยินเลยว่า มีคดีไหนที่หน่วยงานรัฐหลายๆ แห่ง จะร่วมมือกันจับผิดคนโกงมากขนาดนี้
การที่หลายหน่วยงานเข้าร่วมทำคดีทำให้การวิ่งเต้นล้มคดียากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับนายทุนใหญ่ ผู้มีอิทธิพล หรือนักการเมือง
มาดูว่าเรามีกฎหมายและหน่วยงานอะไรบ้างที่มีอำนาจเล่นงานเอกชนที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ
1. กฎหมายอาญา หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนี้ เช่น ป.ป.ช., ดีเอสไอ, ป.ป.ง., ป.ป.ท., ตำรวจ ป.ป.ป. และหน่วยงานผู้เสียหาย ขึ้นอยู่กับบุคคลที่เกี่ยวข้องและพฤติกรรมในคดี
2. กฎหมาย ป.ป.ช. มีทั้งโทษอาญา ยึดทรัพย์ และใช้มาตรา 176 ลงโทษ “นิติบุคคล” โดยตรง ซึ่งจะส่งกระทบไปถึงผู้หุ้นด้วย (ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันไม่เคยลงโทษใครด้วยมาตรานี้ได้เลย)
3. กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มีโทษจำคุกและโทษปรับ
4. กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีโทษอาญาและการยึดทรัพย์ มีอำนาจตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องในคดีต่างๆ
5. อำนาจตรวจสอบ “การเสียภาษี” ย้อนหลังโดยกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต ในกรณีนี้หากปรากฏผู้เกี่ยวข้องอื่นหรือความผิดอื่นก็สามารถดำเนินคดีได้ด้วย เช่น สำแดงรายการสินค้าเป็นเท็จ นำเข้าสิ่งผิดกฎหมาย ออกหรือใช้ใบเสร็จ - ใบกำกับภาษีปลอม ฯลฯ
6. กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯ มีอำนาจขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน (Blacklist) “บริษัทและกรรมการ” เป็นการลงโทษและการตัดโอกาสไม่ให้เขาไปคดโกงหน่วยงานอื่นได้อีก
หน้าที่ประชาชนและภาคธุรกิจร่วมกันต่อต้านคนโกง ..
ในประเทศที่ประชาชนตื่นตัวมาก มักเกิดแรงต่อต้านจากสังคม (Social Sanction) ช่วยกันเปิดโปงให้ข้อมูลว่ามีบริษัทไหนเอาเปรียบสังคม ไม่ซื่อสัตย์ สร้างเรื่องอื้อฉาวบ่อยครั้ง นำไปสู่กระแสต่อต้านตำหนิติเตียน และขยายเป็นการแสดงพลังไม่ซื้อไม่อุดหนุนสินค้าและบริการจากบริษัทเหล่านั้น
ภาคธุรกิจก็มีส่วนร่วมสร้างบรรทัดฐานที่ดีได้ตามบทบาทของตน เช่น สถาบันการเงิน สถาบันการลงทุน ขึ้นบัญชีเฝ้าระวัง (Negative List) ในการทำธุรกรรมการเงินการลงทุนกับบุคคลและนิติบุคคลเหล่านี้ ตามความร้ายแรงถี่บ่อยของพฤติกรรมที่ปรากฏ
บทสรุป ..
ในยุคที่ระบบราชการมีธรรมาภิบาลตกต่ำเช่นนี้ หากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถูกจับไป คนใหม่มาแทนก็เรียกรับเงินแบบเดิม “หากระบบไม่เปลี่ยน” แล้วคนจ่ายก็พร้อมจ่าย ทุกคดีที่รียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ จึงต้องเอาเอกชนที่เจตนาทุจริตมาลงโทษควบคู่กัน
การใช้กลไกของรัฐอย่างหลากหลาย จะเพิ่มโอกาสจับคนโกงและเยียวยาความเสียหายของรัฐได้มากขึ้น ขณะที่การลงโทษเอกชนจะเป็นเยี่ยงอย่างให้คนที่คิดติดสินบนได้ตระหนักว่า โกงแล้วไม่คุ้มที่ต้องโดนลงโทษตามกฎหมายและเผชิญกับความอับอายที่ตามมา
เอกชนที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาจะได้มีกำลังใจ ได้เพิ่มโอกาสในการค้าขายกับราชการมากขึ้น
เรามาระดมกลไกของรัฐไล่จับเอกชนที่คดโกง ให้เป็นต้นแบบการปราบปรามคอร์รัปชันของชาติ โดยเริ่มจากทุกคดีของ กทม. ดีไหมครับ