กระทรวงพลังงาน เตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า เพื่อช่วยแหลือประชาชน พื้นที่ประสบอุทกภัยภาคเหนือตอนบน เผย กฟผ. ปตท. รับลูก ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในทางภาคเหนือตอนบนหลายพื้นที่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน และ จังหวัดแพร่ จากที่ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เนื่องมาจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือที่มีกำลังค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ขณะนี้แม้ว่าปริมาณฝนจะเริ่มซาลงแล้ว แต่ยังต้องระวังมวลน้ำที่ยังไหลในลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าช่วยบรรเทาผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้อย่างทันถ่วงที
สำหรับการบริหารจัดการด้านพลังงานในพื้นที่ประสบอุทกภัย ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนหากได้รับผลกระทบ อาทิ การขนส่งน้ำมันหากเส้นทางได้รับผลกระทบ ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมธุรกิจพลังงาน ได้เตรียมการสำหรับแนวทางฟื้นฟูสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับผลกระทบ และจะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันหลังจากน้ำลด
ในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเบื้องต้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เตรียมถุงยังชีพไว้ จำนวน 15,000 ถุง และผ้าห่มกันหนาวอีก 15,000 ผืน ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ส่งถุงยังชีพไปแล้วกว่า 10,000 ถุง และน้ำดื่ม 10,000 ขวด รวมทั้งได้จัดส่งหน่วยปฏิบัติการ PTT Group SEALs ซึ่งรวมพนักงานจิตอาสา กลุ่ม ปตท. ที่มีทักษะพิเศษในการกู้ชีพและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุกบริษัทในกลุ่ม ปตท. เร่งนำอุปกรณ์ ได้แก่ โดรน เรืออะลูมิเนียมท้องแบน เรืออะลูมิเนียมท้องวี รถตรวจการณ์ รถสิบล้อ และอุปกรณ์การช่วยเหลือต่าง ๆ ร่วมปฏิบัติการมอบถุงยังชีพให้ประชาชน โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษอย่างคนชราและเด็ก ๆ ในพื้นที่ที่ยากแก่การเข้าถึง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 6,674 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 70 % ของความจุเขื่อน น้ำใช้งานได้รวมทั้งสิ้น 3,824 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 57 % ของความจุเขื่อน ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 2,836 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 30 % เทียบกับความจุเขื่อน นอกจากนี้ได้ลดการระบายน้ำในเขื่อนฯ ลงเหลือวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อลดผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง
“ขณะนี้กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน ไฟฟ้า เพื่อเข้าช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งก็ได้วางแนวทางในการช่วยเหลือทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งหลังน้ำลด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชน” นายพีระพันธุ์ กล่าว