นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า 7 เดือน ปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 460 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 124 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 336 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 90,987 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 2,149 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ญี่ปุ่น 117 ราย คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 47,879 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
- ธุรกิจโฆษณา
- ธุรกิจบริการรับจ้างตกแต่งชิ้นงาน ด้วยวิธีการตัด เจาะ กลึง ไส หรือทำเกลียวชิ้นงานตามแบบ
- ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล เช่น ระบบซื้อขายสินค้าภายในงานอีเวนท์ และระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตชิ้นส่วนประกอบถุงลมนิรภัย ชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ชิ้นส่วนยานพาหนะ)
2. สิงคโปร์ 71 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 7,486 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบกระบวนการผลิตการให้คำปรึกษาและแนะนำในการเลือกใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักร และการฝึกอบรมวิธีการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น
- ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
- ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
- ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์สำหรับขายสินค้า พร้อมระบบจัดการข้อมูลการขาย เป็นต้น
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า Motor สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า)
3. สหรัฐอเมริกา 70 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 3,470 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมในการให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิคและฝึกอบรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษา การซ่อมแซม การเปลี่ยนอุปกรณ์เสริมและเครื่องยนต์ของเครื่องบินพาณิชย์
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อุปกรณ์เหนี่ยวนำไฟฟ้า เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าโช๊ค เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสารและโทรคมนาคม เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์และยา)
- ธุรกิจโฆษณา
- ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการพัฒนาองค์กร และด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์ / DRUM BRAKE ASSEMBLY)
4. จีน 51 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 7,120 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือ บริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน)
- ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการงานอีเว้นท์ แอปพลิเคชันค้นหาและสร้างสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับงานอีเว้นท์ เป็นต้น
- ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกลุ่มภาพและเสียง แบตเตอรี่ความจุสูง เครื่องมือไฟฟ้า และมอเตอร์เครื่องจักรอุตสาหกรรม)
5. ฮ่องกง 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 12,131 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป / ฟิล์มไวแสง)
- ธุรกิจบริการสร้างภาพยนตร์ โดยเป็นการบริการประสานงานภาพยนตร์จากต่างประเทศที่มาถ่ายทำในประเทศไทย
- ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่ใช้สำหรับการผลิตแว่นตา)
- ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น เกม เป็นต้น
ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบไร้สาย องค์ความรู้เกี่ยวกับการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบเครื่องยนต์ของเครื่องบิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบที่เกี่ยวข้องกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่ เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2566) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 84 ราย (เพิ่มขึ้น 22%) (ม.ค. - ก.ค. 67 อนุญาต 460 ราย / ม.ค. - ก.ค. 66 อนุญาต 376 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 32,043 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 54%) (ม.ค. - ก.ค. 67 ลงทุน 90,987 ล้านบาท / ม.ค. - ก.ค. 66 ลงทุน 58,944 ล้านบาท) จ้างงานคนไทยลดลง 1,438 ราย (ลดลง 40%) (ม.ค. - ก.ค. 67 จ้างงาน 2,149 คน / ม.ค. - กค. 66 จ้างงาน 3,587 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม) ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC 137 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 64 ราย (เพิ่มขึ้น 88%) (ม.ค. - ก.ค. 67 ลงทุน 137 ราย / ม.ค. - ก.ค. 66 ลงทุน 73 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 27,677 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 15,329 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 124%) (ม.ค. - ก.ค. 67 เงินลงทุน 27,677 ล้านบาท / ม.ค. - ก.ค. 66 เงินลงทุน 12,348 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 45 ราย ลงทุน 8,138 ล้านบาท *จีน 29 ราย ลงทุน 3,039 ล้านบาท
หมายเหตุ:
*ฮ่องกง 14 ราย ลงทุน 5,058 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 49 ราย ลงทุน 11,442 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
* ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับระบบต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม
* ธุรกิจบริการรับจ้างตกแต่งชิ้นงาน ด้วยวิธีการตัด เจาะ กลึง ไส หรือทำเกลียวชิ้นงานตามแบบ
* ธุรกิจบริการจัดเก็บสินค้า วัตถุดิบ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ เคมีภัณฑ์ สารเคมีและวัตถุอันตราย
* ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน, ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ เครื่องมือไฟฟ้า (Power Tools) และมอเตอร์เครื่องจักรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับกลุ่มภาพและเสียง เป็นต้น)
* ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น