ม.อ. ถอดบทเรียนครึ่งทางโครงการสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัยและชุมชน 5 วิทยาเขต จัดกิจกรรมรณรงค์เข้มข้น พบวิทยาเขตภูเก็ตสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม ส่วนการสวมหมวกนิรภัยวิทยาเขตหาดใหญ่เกิน 80% วิทยาเขตตรังกว่า 50% วิทยาเขตสุราษฎร์ฯชวนคนงดเหล้าเข้าพรรษา บอร์ดสสส.ชี้ ต้องใช้ข้อมูลที่มีจัดกิจกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงให้ได้ พร้อมลดปัญหาการทำงาน ผู้เชี่ยวชาญเติมความรู้นักรณรงค์เรื่องพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ศูนย์กีฬาและนันทนาการ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ นักรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างสุขภาวะ ครั้งที่ 2 ของโครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี ผศ.สุพจน์ โกวิทยา ที่ปรึกษาโครงการ เป็นประธานเปิดการอบรม
รศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานลดปัจจัยเสี่ยงด้านยาสูบแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในพื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต คือ หาดใหญ่ ปัตตานี ตรัง ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย 5 ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงสิงหาคม 2567 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาและกรรมการบริหารโครงการ กรรมการดำเนินงานวิทยาเขต มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานวิทยาเขต 2 เดือน/ครั้ง มีกลไกบัณฑิตอาสานักจัดการปัจจัยสี่ยงวิทยาเขตละ 1 คน ทำหน้าที่จัดการข้อมูล ประสานงานขับเคลื่อนกิจกรรมและรณรงค์สร้างการรับรู้ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ วิทยาเขตหาดใหญ่และภูเก็ต จะออกมาตรการเรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัย จำนวน 1 ฉบับ วิทยาเขตปัตตานีผลักดันให้เกิดมัสยิดบ้านม่วงเงินปลอดบุหรี่ และจะขยายไปในระดับชุมชนด้วย
ด้านการจัดทำข้อมูลและแผนการขับเคลื่อนระดับวิทยาเขต มีการสำรวจข้อมูลปัจจัยเสี่ยงด้านบุหรี่ แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ เช่น ที่วิทยาเขตหาดใหญ่และตรัง มีการสังเกตพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัย พร้อมทำรายงานสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงวิทยาเขตละ 1 ชุด และชุมชนละ 1 ชุด ร่วมกำหนดแนวทางการจัดการปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน โดยเฉพาะวิทยาเขตสุราษฎร์ธานีมีการจัดส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีผลการวิเคราะห์ ปัจจัยเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ แอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติดอื่นๆ ในวิทยาเขตสุราษฎร์ธานีและชุมชนภูธรอุทิศ ให้แก่หน่วยงานระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด เพื่อวางแผนในการแก้ไขปัญหาต่อไป
หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่อว่า ด้านการพัฒนานักรณรงค์ปัจจัยเสี่ยง ได้พัฒนานักรณรงค์ที่มาจากนักศึกษา บุคลากรของวิทยาเขตโดยผลิตสื่อรณรงค์ สื่อออนไลน์ เรื่อง สสส.หนุน ม.อ. รณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง “บุหรี่-เหล้า-อุบัติเหตุ” จำนวน 1 ชุด เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์จำนวน 20 สำนัก สื่อออนไลน์ ห่วง “บุหรี่ไฟฟ้า” เจาะกลุ่มเด็กและเยาวชนผ่านสื่อออนไลน์ 10 สำนัก ผลิตวีดิโอ 11 คลิปเผยแพร่ผ่าน Facebook และผลิตสื่อ TikTok จำนวน 9 คลิป เผยแพร่ผ่าน Facebook และ TikTok ผลิตโปสเตอร์จำนวน 52 ชิ้น พัฒนาบอร์ดเกมส์ 3 ชิ้นงาน คือ แฟลชการ์ด บิงโก แผนที่จุดเสี่ยง มอบให้กับโรงเรียนเครือข่ายจำนวน 4 โรงเรียน รวมทั้งผลิตไวนิลรณรงค์ช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ จำนวน 7 ชิ้นงาน ติดตั้งตามจุดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยและชุมชน ผลิตป้ายรณรงค์ 4 ป้ายและผลิตชุดนิทรรศการรณรงค์ 2 ชุด
ขณะเดียวกันนักรณรงค์ปัจจัยเสี่ยงวิทยาเขตหาดใหญ่ ผลักดันให้เกิดแกนนำอาสาสมัครจราจรจำนวน 80 คน และแกนนำในชุมชนร่วมขับเคลื่อนโครงการ จำนวน 30 คน ส่วนวิทยาเขตตรัง จัดตั้งชมรม The Volunteers @ PSU Trang 1 ชมรม จำนวน 23 คน แกนนำชุมชนร่วมขับเคลื่อนโครงการ จำนวน 30 คน วิทยาเขตปัตตานี เกิดนักรณรงค์ในกลุ่มนักเรียนสาธิต ม.อ. จำนวน 20 คน เกิดแกนนำชุมชนต้นแบบ ลด ละ เลิกบุหรี่ชุมชนบ้านม่วงเงิน มีคนเลิกบุหรี่ได้เป็นเวลา 3 เดือน 1 คน ลดการสูบและตั้งใจจะเลิกจำนวน 22 คน วิทยาเขตภูเก็ต เกิดแกนนำนักเรียนนักรณรงค์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา (29)และโรงเรียนกระทู้วิทยา จำนวนรวม 70 คน จัดกิจกรรมเรื่องพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า 7 ครั้งมีคนเข้าร่วมจำนวน1,111 คน กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ส่วนวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มีผู้ลงนามงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2567 จำนวน 42 คน ผลการติดตามครั้งที่ 1 เหลือผู้ร่วมงดเหล้าฯ 39 คน งดเหล้าไม่สำเร็จ จำนวน 3 คน ส่วนการผลักดันเชิงนโยบาย วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการเสนอ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน พัฒนาระบบเฝ้าระวัง และวิเคราะห์สถานการณ์ติดตามประเมินผล มีการเสนอให้โรงเรียนเทศบาล 1 เมือง คอหงส์ มีการขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งการบรรยาย ให้ความรู้ รณรงค์วินัยจราจรและ ประกาศให้ผู้ปกครองและนักเรียนสวมหมวกนิรภัย ตลอดเวลาการดำเนินทาง
ด้าน นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสรุปความคืบหน้าของการดำเนินงานแต่ละวิทยาเขตมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตตรัง เลือกประเด็นการลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุมีการระบุพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มเป้าหมาย ระบุจุดเสี่ยงทั้งในมหาวิทยาลัยและชุมชน รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัย ซึ่งวิทยาเขตหาดใหญ่สวมหมวกนิรภัยเกิน 80 % ส่วนวิทยาเขตตรังสวมหมวกนิรภัยเกิน 50% วิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตภูเก็ตเลือกประเด็นบุหรี่จากข้อมูลที่จัดเก็บ สะท้อนว่าปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ในวิทยาเขตภูเก็ตนั้นรุนแรงขึ้น มีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 19.5% สูบบุหรี่ธรรมดา 8.2% และ 87% ซื้อจากออนไลน์ ส่วนวิทยาเขตปัตตานีนั้นเน้นทำงานร่วมกับชุมชนด้วยการสร้างต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ และจะขยายไปสู่ชุมชน ในขณะที่วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีเน้นให้ความรู้กับประชาชนและนักศึกษาปี 1 มีการร่วมรณรงค์ลงนามเครือข่ายคนงดเหล้าเข้าพรรษา การดำเนินกิจกรรมแต่ละวิทยาเขตต้องยึดตัวชี้วัดโครงการ นอกจากนี้พบว่า ยังมีจุดที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การจัดการความรู้ทั้งการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อนำไปสื่อสารรณรงค์ให้ความรู้และจัดกิจกรรม เช่น เมื่อระบุจุดเสี่ยงของอุบัติเหตุแล้วจะลดจุดเสี่ยงอย่างไรหรือสวมหมวกนิรภัยน้อย จะมีกิจกรรมเพิ่มการสวมหมวกนิรภัยให้มากขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งการหาแนวทางลดปัญหาอุปสรรคในการทำงานที่มีการระบุไว้ทั้งการวางแผนจัดกิจกรรมให้มีความแน่นอนและการเชื่อมประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ได้สรุปสถานการณ์ความรุนแรงของบุหรี่ไฟฟ้าว่า ประชากรไทยวัย 15 ปีขึ้นไป มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 48,336 คน ในปี 2557 เป็น 709,677 คน ในปี 2565 โดยเฉพาะเด็กผู้ชายและผู้หญิงวัย 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า แต่ที่น่าตกใจ คือ ถ้าแยกเฉพาะเพศหญิงเพิ่มขึ้นถึง 7.9 เท่า อันตรายและโรคที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า มีการทำลายเซลล์หลอดเลือดแดง 58% เสี่ยงต่อเส้นเลือดในสมองตีบเร็วกว่าบุหรี่ธรรมดา 10 ปี และก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ควันบุหรี่ไฟฟ้าทั้งมือหนึ่งและมือสองมีผลต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่สูบ 3-4 เท่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เส้นเลือดหดตัวทั่วร่างกาย ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีข้อมูลชุดเจนว่า 53%ของวัยรุ่นไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอาการซึมเศร้า
นอกจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าที่รุนแรงแล้ว นักรณรงค์จะต้องชี้เห็นว่า เป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำมีบทลงโทษจำคุกจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.ศุลกากรก็ห้ามน้ำเข้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คำสั่งคณะกรรมการคุมครองผู้บริโภคห้ามขาย ห้ามให้บริการ ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกลยุทธ์ของธุรกิจบุหรี่คือทำให้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติในสังคม โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน อ้างว่าปลอดภัย ช่วยเลิกบุหรี่มวนได้ มีการสร้างเครือข่ายสนับสนุนฝ่ายตัวเองทั่วโลกผ่านมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ เราต้องสื่อสารให้ประชาชนรู้เท่าทัน