เป็นเกมยื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับใหม่หรือไม่? หรือไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 อันเป็นมรดกตกทอดมาจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพ.ค.57
…
เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขเนื้อหาจากร่างสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น
ถ้าจะเรียกกันแบบภาษาบ้านๆ คือ “2 เกินกึ่งหนึ่ง” หรือ “เกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น” ..
นั่นหมายความว่า…
1. ต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้เสียงลงคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และ 2. ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิในเรื่องที่จัดทำประชามติ ซึ่งแตกต่างจากร่างเดิมของมติ สส. ในสภาฯ ที่เห็นว่าแค่ชั้นเดียว โดยใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเท่านั้น
เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของ สว. มีมติเห็นด้วยในหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น
ดังนั้น จึงต้องส่งร่างฯ ให้สภาผู้แทนราษฎร ว่าจะยืนยันเนื้อหาตามที่ สว.แก้ไขหรือไม่?
“เสือออนไลน์” จึงต้องกระทุ้งไปยัง สส. ทุกพรรคการเมือง ต้องตัดสินใจลุยไฟ! ไปตามมติของ สว. โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการฯ ร่วม สส. และ สว. ขึ้นมาให้เสียเวลาไปอีกหลายเดือน
เผลอๆ อาจจะลากยาวไปเป็นปี ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมฉบับใหม่อาจจะไม่ทันกับอายุของสภาฯ ชุดปัจจุบัน และรัฐบาลชุดนี้
เหตุผลที่ “เสือออนไลน์” ขอให้เดินหน้าไปตามมติของ สว. เพราะ..
1. เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 59 มีการทำประชามติ ให้ผ่าน-ไม่ให้ผ่าน ร่างรัฐธรรมนูญปี 60 โดยมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 29,740,677 คน (59.40%) ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50,071,589 คน เป็นเสียงผ่านความเห็นชอบ 16,820,402 คะแนน (61.35%) ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คะแนน (38.65%)
ส่วนประเด็นคำถามพ่วง ที่ระบุให้ สว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ สส. ได้รับความเห็นชอบ 15,132,050 คะแนน (58.07%) ไม่เห็นชอบ 10,926,648 คะแนน (41.93%)
2. ถ้าจำกันได้การทำประชามติเมื่อเดือน ส.ค. 59 ในสภาพการเมืองที่ไม่ค่อยปกติ เพราะทหารปกครองบ้านเมือง จึงแสดงออกอะไรกันมากไม่ได้ แต่ประชาชนยังออกมาใช้สิทธิลงประชามติเกินครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด
แต่หากมีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ แล้วประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด ก็ต้องโทษประชาชนนั่นแหล่ะ ที่ไม่รู้จักนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่ออกมาใช้สิทธิ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวอะไรกับ สส. ในสภาฯ และรัฐบาล
3. ถ้า สส. ส่วนใหญ่ในสภาฯ เอาตามมติของ สว. เพื่อเดินหน้าทำประชามติเร็วๆ (ประมาณต้นเดือน ก.พ. 68) และมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาทันใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในปี 70
4. แต่ถ้า สส. ในสภาฯ และรัฐบาล ยังดึงเช็งเอาไว้ ไม่เร่งทำประชามติ ซึ่งตอนนี้อายุของสภาฯ-รัฐบาลเหลือไม่ถึง 3 ปี และการเลือกตั้งเที่ยวหน้ายังต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกันอยู่! รับประกัน 100% ว่า สส.ทั้งสภาฯ และรัฐบาลถูกด่าหูชาแน่นอน
5. ควรเร่งทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับใหม่ เพื่อวางกรอบอำนาจของ “องค์กรอิสระ” ให้ชัดเจนอย่างมีขอบเขต โดยไม่เปิดช่องให้ใช้ “ดุลยพินิจ” ตีความข้อกฎหมายกันอย่างกว้างขวาง หรือสองมาตรฐานกันตามอำเภอใจ
และไม่ให้องค์กรอิสระมีอำนาจมากกว่าสภาฯ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่าให้มีประเภทที่ว่าปลด-ถอดถอน! นายกรัฐมนตรีง่ายกว่าปลด!ปลัดกระทรวง-นายพลตำรวจ-ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ
ปัจจุบันมีหลายคนพูดเข้าหู “เสือออนไลน์” ว่าอยากให้เร่งทำประชามติ แล้วเอา “ส.ส.ร.” มาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อต้องการปิดสวิตช์ “สว.” จากเครือข่ายบุรีรัมย์!
อย่าให้คนกลุ่มนี้อยู่จนครบวาระ 5 ปี เลย!
เสือออนไลน์