นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน และ 9 เดือนแรกของปี 2567 พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องพิพิธสมบัติ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (889,074 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 1.1 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องตามวัฏจักร ประกอบกับสินค้ามีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ ขณะที่เศรษฐกิจในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่คลี่คลาย
ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของค่าระวางเรือในเส้นทางการค้าสำคัญยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ที่สำคัญ การเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกไทย ทั้งนี้ การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.2
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายน 2567 การส่งออก มีมูลค่า 25,983.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,589.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.9 ดุลการค้า เกินดุล 394.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 223,176.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 229,132.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.5 ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,956.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกันยายน 2567 การส่งออก มีมูลค่า 889,074 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 886,336 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.8 ดุลการค้า เกินดุล 2,738 ล้านบาท ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 7,957,895 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 8,264,589 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.2 ดุลการค้า 9 เดือนแรก ของปี 2567 ขาดดุล 306,694 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.5 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.2 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.8 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 15.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก สหรัฐฯ เซเนกัล โตโก และฟิลิปปินส์) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 47.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 15.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 21.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อิตาลี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และฝรั่งเศส) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 27.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม และจีน)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 20.9 กลับมาหดตัวหลังจากที่ขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เวียดนาม มาเลเซีย และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา และออสเตรเลีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 29.2 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และสิงคโปร์) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 10.4 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม ลาว ไต้หวัน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 3.0 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร) และผักกระป๋องและผักแปรรูป หดตัวร้อยละ 6.4 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาด มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.4
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 15.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 8.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อินเดีย และฟิลิปปินส์) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 4.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสหรัฐฯ) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 9.9 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ และอาร์เจนตินา) อัญมณีและเครื่องประดับ หดตัวร้อยละ 6.5 กลับมาหดตัวในรอบ 5 เดือน (หดตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา สหรัฐฯ สิงคโปร์ เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 5.2 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เมียนมา เกาหลีใต้ และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 7.6 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม และลาว) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 20.6 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดอาร์เจนตินา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ จีน และบราซิล) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.8
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวโดยเฉพาะในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ที่อุปสงค์มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
(1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 18.1 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 4.1 และ CLMV ร้อยละ 8.3 ขณะที่หดตัวในตลาดจีน ร้อยละ 7.8 ญี่ปุ่น ร้อยละ 5.5 อาเซียน (5) ร้อยละ 6.7
(2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 12.0 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 3.5 แอฟริกา ร้อยละ 1.6 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 15.0 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 29.3 ขณะที่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 1.6 และ รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 9.8 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 39.3
ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 18.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 12.5
ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 7.8 (หดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.03
ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 5.5 (หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 7.3
ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 4.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 8.0
ตลาดอาเซียน (5) หดตัวร้อยละ 6.7 (หดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.3
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 8.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.1
ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 1.6 (หดตัวในรอบ 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.1
ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 12.0 (กลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 6.5
ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 3.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.3
ตลาดแอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 1.6 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 1.3
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 15.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 11.8
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 9.8 (หดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 6.2
ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 29.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 5.8
การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินงานกิจกรรมที่สำคัญในเดือนกันยายน อาทิ (1) การกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับเกาหลีใต้ ในการประชุมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ไทย – เกาหลีใต้ ครั้งที่ 2 ณ กรุงโซล ได้ขอให้พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงของไทย เช่น มะม่วง มังคุด สับปะรด กุ้งสดและแปรรูป เนื้อไก่สดและแปรรูป เป็นต้น ตลอดจนเห็นพ้องที่จะเจรจาความตกลง EPA เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ขอให้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของเกาหลีใต้ และผลักดัน Soft Power ผ่านการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้แก่ร้านอาหารไทย 4 แห่งในเกาหลีใต้
(2) การเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้ากับจีน ได้มีการหารือแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไทย-จีน ขอให้ทางจีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุล ปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าของไทย และสนับสนุนให้จีนเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภท เซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รวมทั้ง เปิดช่องทางให้สินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม e-Commerce จีนมากขึ้น
(3) จัดงาน International Live Commerce Expo 2024 โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน KOLs ชาวจีน ชาวไทย และอินฟลูเอนเซอร์ กว่า 100 คน นำสินค้าไทยมาไลฟ์ขาย ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าความสวยความงาม อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าสัตว์เลี้ยง เป็นต้น (4) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับสหราชอาณาจักร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยและรัฐมนตรีการค้าของสหราชอาณาจักร ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (Enhanced Trade Partnership: ETP) และรับรองแผนปฏิบัติการที่ระบุกิจกรรมความร่วมมือที่สองฝ่ายจะดำเนินการร่วมกัน 20 สาขาสำคัญ อาทิ เกษตร อาหาร ดิจิทัล การศึกษา การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจรจา FTA ระหว่างกันในอนาคต
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแข็งค่าของเงินบาท ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจกระทบการส่งออกข้าวไทย เป็นต้น อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะบรรลุได้ตามเป้าหมาย โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี นอกจากนี้ แนวโน้มการลดลงของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น