ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เกี่ยวกับความชัดเจนเรื่อง MOU 44 ที่ตึกไทยคู่ฟ้าเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า MOU44 ไม่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่ได้อยู่ใน MOU เรื่องนี้ไม่ได้มีการถกเถียง เพราะเกาะกูดเป็นของไทย
หากไปดูการตีเส้น ทางกัมพูชาตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ให้ไทย ใน MOU44 ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใคร ขีดเส้นอย่างไร เพราะใน MOU ขีดเส้นไม่เหมือนกัน ส่วนเนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงร่วมกันว่า จะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ หากจะเกิดอะไรขึ้น จะมีข้อตกลงอะไร ต้องมีคณะทำงานเพื่อพูดคุยกัน
สำหรับคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชาด้วย ส่วนคณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะนาน เพราะดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยระหว่าง 2 ประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่ยกเลิก MOU ทำให้ถูกมองว่า เรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร MOU ดังกล่าว คือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ
ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ต่อมาปี 2516 ไทยขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกัน แต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำ MOU ขึ้นมา และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกัน ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจ ว่าเราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาไม่ได้สนใจเกาะกูดของเรา ขออย่ากังวลเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการอ้างสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิก MOU นายกฯ กล่าวว่าไม่มี ข้อเท็จจริง MOU ปี 2544 ยกเลิกไม่ได้ หากไม่เกิดการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ เรื่องนี้ต้องเข้าที่ประชุมรัฐสภา และในปี 2552 ไม่มีเรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา
ทั้งนี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้าธรรม (กธ.) กล่าวว่า ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยัน ซึ่งนายกฯ กล่าวต่อว่า ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันทุกคนเป็นเนื้อเดียวกันว่า มีมติ ครม.ว่า ไม่มีการยกเลิก
ส่วนเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 นายกฯ กล่าวว่า “ต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร เราต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมี MOU ว่าถ้าคิดไม่เหมือนกัน ต้องคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ใน MOU เปิดให้ 2 ประเทศพูดคุยกัน หากยกเลิกฝ่ายเดียวโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ซึ่งไม่มีประโยชน์”
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยืนยันวันนี้อาจถูกมองว่า รัฐบาลเดินต่อโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกฯ กล่าวว่า ไม่จริงเลย ที่เรามากันในวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจคอนเซ็ปต์เดียวกันว่าตกลงอันนี้คือข้อตกลงระหว่างประเทศไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาพูดให้ประชาชนฟัง เพื่อจะอธิบายว่า
1. MOU44 ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด
2. MOU44 คือเรื่องระหว่างสองประเทศ หากจะยกเลิกต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ
3. ไทยยังไม่เสียเปรียบเกี่ยวกับข้อตกลง
“ฉะนั้นอย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สั่นคลอน เราอยากให้เข้าใจตรงกันตามหลัก” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้า MOU ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนเราจะเดินต่อ ตอนนี้กัมพูชารอเราในเรื่องของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ที่จะไปศึกษาและพูดคุย ซึ่ง ก.กลาโหม , ก.ต่างประเทศ และ ก.พลังงาน จะมาช่วยกัน รวมทั้งจะศึกษารายละเอียดเรื่องพลังงานใต้ทะเล เพื่อให้ผลประโยชน์ที่จะเกิดกับ 2 ประเทศยุติธรรมมากที่สุด ไทยจึงส่งคณะกรรมการที่รู้รายละเอียดไปศึกษาร่วมกันกับทางกัมพูชา เพื่อให้ได้คำตอบที่จะสามารถบอกต่อประชาชนได้อย่างชัดเจน หากทุกฝ่ายเข้าใจในหลักการแล้ว ไม่น่าจะบานปลาย เพราะทั้งหมดคือข้อเท็จจริงไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะที่ตนกล่าวมา คือ กรอบ เป็นหลักคิด เป็นกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ยืนยันจะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างสูงสุดใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนไทย 100% ประเทศไทยต้องมาก่อนคนไทยต้องมาก่อนรัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่สุด”