ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ครม. อนุมัติประมูล มอเตอร์เวย์วงแหวนตะวันตก (M9) บางบัวทอง-บางขุนเทียน แล้ว เตรียมเปิดประมูล PPP หาผู้ก่อสร้างและให้บริการ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2573 หรืออีก 4 ปี โดยคณะกรรมการ PPP เตรียมหาเอกชนร่วมลงทุน แก้ปัญหาการเดินทางฝั่งตะวันตก กรุงเทพ มูลค่ากว่า 64,300 ล้านบาท
โครงการมอเตอร์เวย์ M9 ช่วง บางบัวทอง-บางขุนเทียนกันก่อนเป็นโครงการในการทำมอเตอร์เวย์ระบบปิด รอบกรุงเทพฯ ซึ่งช่วงนี้จะทำยกระดับบนวงแหวนกาญจนาภิเษก ฝั่งตะวันตก
รายละเอียดช่วง “บางบัวทอง-บางขุนเทียน”..
มีระยะทางรวม 38 กิโลเมตร รูปแบบทางวิ่งเป็น ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ข้างละ 3 ช่องจราจร
มีทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางใหญ่, ศรีรัช, บรมราชชนนี และ บางขุนเทียน
ทางขึ้น-ลง 7 จุด ได้แก่ บางบัวทอง 1, บางใหญ่, นครอินทร์, บรมราชชนนี, พรานนก-พุทธมณฑล, เพชรเกษม และพระราม 2 และทางขึ้น อย่างเดียว 2 จุด ได้แก่กัลปพฤกษ์ และเอกชัย
ซึ่งในแบบของ ทางขึ้น-ลง มอเตอร์เวย์ทุกจุด มีจุดกลับรถเพื่อรองรับ และบริการรถด้านล่าง (คล้ายกับทางด่วนบูรพาวิถี ด่านกิ่งแก้ว)
เปิดแนวเส้นทาง มอเตอร์เวย์ M9 ช่วง บางบัวทอง-บางขุนเทียน
จะเริ่มจาก จุดสิ้นสุดของ มอเตอร์เวย์ M9 ช่วง บางปะอิน-บางบัวทอง ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ บนถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก สาย 9 ฝั่งตะวันตก สิ้นสุด ก่อนถึงต่างระดับบางบัวทอง จุดตัดกับถนน 345
โดยในโครงการช่วงนี้จะเป็นการปรับปรุงถนนเดิมให้เป็น มอเตอร์เวย์ และทำเป็นระบบปิดสมบูรณ์ โดยทำคู่ขนานเพื่อให้บริการกับผู้ใช้ถนนท้องถิ่น และทดแทนถนนเดิม (กำลังสร้างอยู่)
จากจุดเชื่อมต่อ จะทำเป็นทางยกระดับ มุ่งหน้า บนถนนวงแหวนตะวันตก ข้ามต่างระดับบางบัวทอง มาทางใต้ ผ่านจุดตัดถนนบางกรวย-ไทรน้อย พร้อมกับทำทางขึ้น-ลง บางบัวทอง 1 มุ่งหน้าทางทิศใต้
จากนั้น จะมุ่งหน้ามาต่อ โดยช่วงนี้พอมาเจอกับโครงสร้างของโครรถไฟฟ้าสายสีม่วง บริเวณหน้าศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่
ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างทางยกระดับมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟที่อยู่บริเวณเกาะกลางถนน ทำให้ไม่มีพื้นที่ในการวางเสาทางยกระดับมอเตอร์เวย์
ทางยกระดับมอเตอร์เวย์ จะเบนออกไปทางด้านตะวันตกของรถไฟฟ้าสายสีม่วง เลียบคู่กับโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงไปจนถึงต่างระดับบางใหญ่
ตรงนี้จึงจำเป็นต้องมีการเวนคืนด้านข้างฝั่งตะวันตกของทางวิ่งรถไฟฟ้า ตลอดช่วงทับซ้อน ประมาณ 5-20 เมตร ตามความจำเป็นของพื้นที่
บริเวณต่างระดับบางใหญ่ จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญมากของโครงการ ซึ่งจะพัฒนาจากต่างระดับเดิม ระหว่างถนนรัตนาธิเบศร์ และวงแหวนตะวันตก เข้ากับ มอเตอร์เวย์ M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี และมีมอเตอร์เวย์ M9 นี้วิ่งมาบนแนว ถนนวงแหวนอีกที
โดยจุดนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง มอเตอร์เวย์ สายอีสาน (M6) และ ใต้ (M81) ได้เลย
หลังจากนั้น มุ่งหน้าต่อบนถนนวงแหวนตะวันตก จะมีทางขึ้น-ลง บางใหญ่ มุ่งหลังทางทิศใต้ เพื่อรองรับรถที่มาจากทางถนนรัตนาธิเบศร์ และ ต่อมาอีกช่วงหนึ่ง จะเป็นทางขึ้น-ลง นครอินทร์ มุ่งหน้าทางทิศเหนือ เพื่อรองรับรถจากถนนนครอินทร์ (สะพานพระราม 5)
แล้วต่อมาจะเข้าสู่ต่างระดับศรีรัช ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับทางด่วน ศรีรัช-วงแหวน และถัดมาอีกหน่อยนึง ก็จะเข้าต่างระดับบรมราชชนนี (คู่ขนานลอยฟ้า)
แล้วมุ่งหน้าลงใต้ต่อ จะเจอ ทางขึ้น-ลง บรมราชชนนี มุ่งหน้าทิศใต้ ,ทางขึ้น-ลง พรานนก-พุทธมณฑล มุ่งหน้าขึ้นเหนือ (รับรถจากถนนเพชรเกษม), ทางขึ้น-ลง เพชรเกษม มุ่งหน้าลงใต้, ทางขึ้น กัลปพฤกษ์, ทางขึ้นเอกชัย, ทางขึ้น-ลงพระราม 2 เชื่อมต่อระดับดินกับถนนพระราม 2
แล้วสุดท้าย มุ่งหน้าเข้าต่างระดับ บางขุนเทียน ซึ่งจุดนี้ก็เป็นอีกต่างระดับที่สำคัญของโครงการ
โดยจะสามารถเชื่อมต่อกับโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่คือ มอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนใต้ (บางขุนเทียน-บางนา), ทางด่วนบนถนนพระราม 2 (พระราม 3-บางขุนเทียน), มอเตอร์เวย์ M82 (บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว)
ไฮไลต์ “เก็บค่าผ่านทางแบบใหม่”
ส่วนหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ของโครงการนี้ คือระบบเก็บค่าผ่านทางแบบใหม่ ซึ่งเป็นแบบใช้กล้องตรวจสอบ และเก็บเงินตามภายหลัง (Open Road Tolling; ORT) หรือทางกรมทางหลวง เรียกว่า M-Flow
ซึ่งการเก็บค่าผ่านทางแบบนี้จะเป็นการเก็บค่าผ่านทางตามการใช้งานภายหลัง โดยการใช้กล้องตรวจจับที่ป้ายทะเบียนรถ คล้ายกับการเก็บค่าใบสั่ง
มีหลายประเภทใช้แบบนี้ เช่น จีน, สิงคโปร์ และสวีเดน ซึ่งจะสามารถพัฒนาไปในการใช้คิดค่าใช้จ่ายในการเข้าออกพื้นที่ชั้นในของเมืองได้ด้วย
แต่ในการทำแบบนี้ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้ผู้ขับรถเลี่ยงจ่ายค่าผ่านทาง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำได้จริงขนาดไหน และจะมีปัญหาการหลุดรอดของรถที่สวมทะเบียนปลอมรึเปล่า
แต่การทำด่านแบบ Open Road Tolling จะสามารถลดพื้นที่การก่อสร้างด่านได้มาก และลดปัญหาจราจรติดขัดหน้าด่านได้มหาศาลด้วยเช่นกัน
เปิดร่วมทุนแบบ PPP
โครงการนี้วางแผนการลงทุนเป็นรูปแบบ ร่วมทุน (PPP) เพื่อลดการลงทุนของภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ
ซึ่งในโครงการนี้จะลงทุนทั้งหมด 65,484 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ค่าการลงทุน 51,601 ล้านบาท
- ค่าซ่อมบำรุง และดำเนินงาน 13,247 ล้านบาท
จากการคาดการณ์ จะมีรถใช้บริการในปีแรก 184,736 คัน/วัน และอีก 30 ปี จะโตไปที่ 273,631 คัน/วัน
โดยจะมีค่าผ่านทาง
รถ 4 ล้อ ค่าแรกเข้า 10 บาท และคิดตามระยะทาง 1.5 บาท/กิโลเมตร
จะสามารถจัดเก็บค่าผ่านทางได้ในปีแรก 1,716 ล้านบาท/ปี และอีก 30 ปี จะโตไปที่ 5,206 ล้านบาท/ปี