บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ต่ำที่สุดรายหนึ่ง เดินหน้าขยายโอกาสการลงทุนด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) ผ่านการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) พร้อมเตรียมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD (Commercial Operation Date) จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โครงการ รวมกำลังการผลิต 13 เมกะวัตต์ ภายในปี 2570 เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและเสริมสร้างระบบพลังงานที่ยั่งยืนในประเทศไทย
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKPower กล่าวว่า จากแผนกลยุทธ์การดำเนินงานความยั่งยืนตามกรอบระยะเวลา 5 ปี (2565-2569) บริษัทได้ขยายโอกาสการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) ร่วมกับทางบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (INNOPOWER) บริษัทในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการนำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้บริษัท บางเขนชัย จำกัด (BKC) ขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ธุรกิจซื้อขาย RECs ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการส่งมอบ RECs ให้กับ อินโนพาวเวอร์ แล้วจำนวน 39,660.46 RECs เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว
"ที่สำคัญในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา CKPower ได้ลงนามข้อตกลงสัญญาร่วมกับบริษัท เมฆา วี จำกัด (Mekha V) บริษัทในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ RECs จากบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แบบน้ำไหลผ่านใน สปป.ลาว เข้าสู่แพลตฟอร์ม ReAcc เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคตและเตรียมความพร้อมในการรองรับการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ" นายธนวัฒน์ กล่าวเสริม
สำหรับความคืบหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ (BEM) ที่บริษัทดำเนินการผ่าน บริษัท บางเขนชัย จำกัด (BKC) จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6.95 เมกะวัตต์ (MW) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยคาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โครงการแรกในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ซึ่งในอนาคตจะศึกษาและต่อยอดความเป็นไปได้ในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้กับระบบขนส่งที่กำลังเติบโตขยายตัวมากขึ้น พร้อมกันนี้ ทาง BKC ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ (MW) มีกำหนด COD ในปี 2570 ด้วยระยะเวลาสัญญา 25 ปี
"การดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ ซี เค พี (C-K-P) ในด้านความยืดหยุ่นของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งตั้งเป้าการขยายโอกาสในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงขยายตลาดและความร่วมมือในธุรกิจการผลิตไฟฟ้า และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทยังได้รับผลการประเมิน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ระดับ "AAA" ถือเป็นการติดรายชื่อหุ้นยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources) ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งก้าวเดินต่อจากนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทั้ง พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ ให้ได้มากกว่าร้อยละ 95 ภายในปี 2586 ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมลดการใช้พลังงานเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าคู่ขนานไปกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2593"
CKPower เชื่อมั่นในพลังงานหมุนเวียนว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานสะอาดเพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบพลังงานและสังคมในระยะยาว
หมายเหตุ : เกี่ยวกับ “บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower”
บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 18 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย (1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง ภายใต้ บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 50% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ (2) โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และ (3) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 13 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 11 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 28 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์