นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมกุลาดำ อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง โดยที่ประชุมได้พิจารณาแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2568 - 2570 (ฉบับปรับปรุง) ประกอบด้วย 7 มาตรการ 15 กิจกรรม 61 โครงการ พร้อมพิจารณาโครงการควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณงบกลาง ปีงบประมาณ 2568 และ (ร่าง) คำสั่งคณะทำงานพิจารณากรอบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการและมอบหมายกรมประมงปรับปรุงรายละเอียดการดำเนินงานเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ 7 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 มีการกำจัดรวมทั้งสิ้น 3,066,855.50 กิโลกรัม แบ่งเป็น จากบ่อเลี้ยง 1,884,993 กก. และจากธรรมชาติ มาตรการที่ 2 มีการสำรวจความชุกชมก่อนและหลังการปล่อยปลาผู้ล่า โดยมีการกำหนดให้มีการสำรวจความชุกชุมทุกเดือน และมีการปล่อยปลาผู้ล่า มาตรการที่ 3 มีการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศน์ไปใช้ประโยชน์ ทั้งการทำปลาป่น ทำน้ำหมักชีวภาพ นำไปแปรรูปและบริโภค มาตราการที่ 4 มีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในพื้นที่กันชน โดยได้มีการจัดทำระบบการแจ้งตำแหน่ง และการออกประกาศห้ามเพาะเลี้ยง ห้ามเคลื่อนย้าย และที่เกี่ยวข้อง มาตรการที่ 5 มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมราชทัณฑ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วม มาตรการที่ 6 มีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4N เพื่อให้เกิดหมันในปลาหมอคางดำ และมีข้อเสนอโครงการวิจัย ขอรับงบประมาณจาก สกว. จำนวน 18 งานวิจัย และมาตรการที่ 7 มีการฟื้นฟูความหลากหลายและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยการฟื้นฟูแหล่งอาศัยและปล่อยสัตว์น้ำประจำถิ่น พร้อมทั้งวางแผนผลิตสัตว์น้ำที่มีความหลากหลายปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรให้ชาวประมงและเป็นแหล่งอาหารของประชาชน
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาด ปัจจุบัน พบปลาหมอคางดำ 17 จังหวัด ไม่พบจังหวัดที่มีความชุกชุมมาก พบเพียงระดับความชุกชมปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยในช่วง 12 – 52 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร จำนวน 8 จังหวัด จังหวัดที่มีความชุกชมน้อย จำนวน 9 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่พบปลาหมอคางดำ จำนวน 2 จังหวัด