
ผลพวงคำพิพากษาศาลอาญายกฟ้อง 4 บอร์ด ส่อทำ กสทช. ปั่นป่วนอีก กสทช. ธนพันธ์ หร่ายเจริญ บี้ประธานดำเนินการให้เป็นไปตามมติบอร์ดในอดีต ขณะตำแหน่งรักษาการยังเคว้ง ไม่รู้ "ไตรรัตน์" ยังนั่งรักษาการได้หรือไม่หลังต่ออายุรองเลขาฯ ล่วงหน้ายังมีปัญหาถูกกฏหมายหรือไม่
หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 กสทช. ในคดีที่ถูกนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการแงะรักษาการเลขาธิการ กสทช. ฟ้องร้องข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีร่วมกันมีมติเสียงข้างมากให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช. และตั้งกรรมการสอบวินัย ปมการจ่ายเงินสนับสนุนการจัดซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มูลค่า 600 ล้านบาท ที่ไม่เป็นไปตามประกาศ กสทช.นั้น

ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 11/2568 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ที่ผ่านมามีรายงานว่า พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ได้เสนอต่อที่ประชุมบอร์ดเพื่อขอให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามมติ กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันที่ 9 มิ.ย.2566 ในวาระที่ 5.22 ที่ให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช. และตั้งกรรมการขึ้นสอบวินัยนายไตรรัตน์ โดยระบุว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงเท่ากับมติ กสทช. ครั้งนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของ กสทช. แล้ว ประธาน กสทช. จึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังได้มีข้อสังเกตถึงการที่ยังคงให้นายไตรรัตน์ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ทั้งที่ บอร์ด กสทช. มีมติให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช. ไปแล้ว รวมทั้งที่ประชุมบอร์ด กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ไม่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ทั้งที่ กสทช. หลายคน มีหนังสือเร่งรัดให้มีการบรรจุวาระเพื่อสรรหาเลขาธิการ กสทช. ใหม่ ไปหลายครั้งแล้ว ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ว่างเว้นมาจะครบ 5 ปีแล้วนับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ที่เข้าสู่ตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์ โดยการรับสมัครเป็นการทั่วไปตามสัญญาจ้างและจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 เมษายน 68 นี้ ทำให้มีประเด็นและปัญหาข้อกฎหมายตามมามากมาย เพราะแม้ก่อนหน้าสำนักงาน กสทช. จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินและผลงาน และต่ออายุนายไตรรัตน์เป็นพนักงานประจำ แต่เป็นการดำเนินการโดยไม่ผ่านบอร์ด กสทช. ทำให้เกิดปัญหาในข้อกฎหมาย อีกทั้งผู้ออกคำสั่ง คือ นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. ได้ขอยกเลิกคำสั่งที่ตนเองในเวลาต่อมา จึงมีประเด็นข้อกฎหมายว่าการต่ออายุดังกล่าวมีผลหรือไม่ ซึ่งประเด็นและปัญหาในข้อกฎหมายเหล่านี้ สมควรได้รับการชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการแต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือใด ๆ จากประธาน กสทช.
ล่าสุด สำนักงาน กสทช. ได้มีคำสั่งลงวันที่ 2 เม.ย. 68 ต่อระยะเวลาการปฏิบัติงานของรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคมให้แก่นายสุทธิศักดิ์ ที่จะครบวาระในวันที่ 30 เม.ย. เช่นเดียวกับนายไตรรัตน์ โดยมีการนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2568 ในวาระ 6.2 เรื่อง การต่อระยะเวลาการปฏิบัติงานของผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. รับทราบ ซึ่งที่ประชุมมีเพียงประธาน กสทช. รับทราบ ขณะที่ กสทช. ส่วนใหญ่เห็นว่าขั้นตอนการประเมินผลงานไม่เป็นไปตามระเบียบ กสทช.

"ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่า หลังวันที่ 30 เม.ย. 68 นี้ ประธาน กสทช. จะยังคงให้นายไตรรัตน์ ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ต่อไปหรือไม่ หากยังคงให้ทำหน้าที่ต่อไปก็จะเกิดปัญหาข้อกฎหมายตามมาทันทีว่าทำได้หรือไม่ ในเมื่อการต่ออายุนายไตรรัตน์ในตำแหน่งรองเลขาการ กสทช. ที่สำนักงาน กสทช. ดำเนินการไปก่อนหน้าเมื่อ 7 เดือนก่อนนั้น ตัวรองเลขาธิการที่ทำหน้าที่รักษาการ และเป็นผู้ลงนามในคำสั่งได้ยกเลิกคำสั่งที่ตนเองลงนามไปแล้วเช่นกัน จึงทำให้เกิดปัญหาว่านายไตรรัตน์ยังคงเป็นรองเลขาธิการ กสทช. อยู่หรือไม่ และไม่สิทธิที่จะนั่งรักษาการต่อหรือไม่"