
ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับหุ้น JKN กรณีเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จหรืออาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับข้อมูลของ JKN พร้อมสั่งปรับ ผู้กระทำความผิดปั่นหุ้น TCC
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 2 ราย ได้แก่ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (JKN) และ นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ กรณีเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จหรืออาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลของ JKN โดยให้ชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 4,124,078 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิด 1 ราย เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

ก.ล.ต.ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เมื่อเดือนเมษายน 2567 และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. JKN โดยนายจักรพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจรายงานสารสนเทศของ JKN ได้เปิดเผยผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ระบบ SETLink) ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ JKN ชี้แจงกรณีปรากฏข่าวบนสื่อออนไลน์ว่า JKN ได้ขายธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization: MUO) ให้แก่นายราอูล โรชา เศรษฐีชาวเม็กซิกัน ซึ่ง JKN ชี้แจงโดยสรุปว่า JKN ได้มีการดำเนินการหาและติดต่อนักลงทุนหลากหลายราย และได้ศึกษารายละเอียดข้อเสนอลงทุนของนักลงทุนมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงเวลานั้น JKN โดย JKN Global Content Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JKN ได้ดำเนินการขายหุ้นของ JKN Legacy, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาล และครอบครองลิขสิทธิ์นางงามจักรวาล (Miss Universe) ให้แก่ Legacy Holding Group USA Inc. ในจำนวนร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด โดยเข้าทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อมูลว่า Legacy Holding Group USA Inc. มีนายราอูล โรชา เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดังนั้น ข้อความที่ JKN เผยแพร่ดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงหรืออาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลของ JKN โดยประการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ JKN
การกระทำของ JKN เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 วรรคหนึ่ง และมาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน โดยนายจักรพงษ์ ในฐานะเป็นบุคคล ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล กระทำการเป็นเหตุให้ JKN กระทำความผิดในกรณีข้างต้นจึงต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 300 ประกอบมาตรา 240 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย โดยให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินรายละ 2,062,039 บาท และห้ามนายจักรพงษ์เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 56 เดือน
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดจะมีผลเมื่อผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ โดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
ก.ล.ต.สั่งปรับ ปั่นหุ้น TCC
ก.ล.ต. เปิดเผยต่อว่า ได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 10 ราย กรณีสร้างราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TCC) ได้แก่ หุ้น TCC และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ รุ่น 3 รุ่น 4 และรุ่น 5 (TCC-W3 TCC-W4 และ TCC-W5) โดยเรียกให้ชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 59,780,191 บาท พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

โดยก.ล.ต.ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2562 และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ผู้กระทำความผิด 10 ราย ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกัน ได้แก่ (1) นางสาวพรพิน ชัยวิกรัย (2) นายธนกร หริวงศานุภาพ (3) นางสาวยุพิน ชัยวิกรัย (4) นายนฤชิต โรจนยางกูร (5) นางเกสร สิทธิวราภรณ์ (6) นายวิรัช สิทธิวราภรณ์ (7) นายวิชัย สิทธิวราภรณ์ (8) นางดรุเณศ สิทธิวราภรณ์ (9) นางสาววิมณฑา วิชญธีระพงศ์ และ (10) นายปราโมทย์ พงศ์วรกร ได้ร่วมกันส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ และส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน โดยมุ่งหมายให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด แล้วแต่กรณี โดยการกระทำดังกล่าวข้างต้นแบ่งได้เป็น 2 ช่วงเวลา ดังนี้
ช่วงเกิดเหตุที่ 1 ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม – 21 กันยายน 2561 นางสาวพรพิน นายธนกร และนางสาววิมณฑา ได้ร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น TCC โดยส่งคำสั่งซื้อ (bid) และคำสั่งขาย (offer) หุ้น TCC ในจำนวน ราคา และเวลาใกล้เคียงกัน ส่งผลให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดเกี่ยวราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น TCC
ช่วงเกิดเหตุที่ 2 ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 6 พฤศจิกายน 2561 ผู้กระทำผิดทั้ง 10 ราย ได้ร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น TCC และหลักทรัพย์ TCC-W3 TCC-W4 และ TCC-W5 โดยรู้เห็นหรือตกลงกันในการส่งคำสั่งซื้อขาย ในลักษณะสอดรับและสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง โดยการผลักดันราคาให้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งคำเสนอซื้อในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการส่งคำสั่งเสนอซื้อของบุคคลอื่น ส่งคำสั่งซื้อและขายในจำนวน ราคา และเวลาใกล้เคียงกัน รวมถึงการส่งคำเสนอซื้อในช่วงก่อนเปิดตลาด โดยมุ่งหมายให้ราคาเปิดปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลให้ราคาและปริมาณการซื้อขายของราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นผิดไปจากสภาพปกติ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าในขณะนั้นมีความต้องการซื้อขายหุ้น TCC และหลักทรัพย์ TCC-W3 TCC-W4 และ TCC-W5 ในปริมาณมากและเข้าซื้อขายตาม
การกระทำของกลุ่มผู้กระทำผิดทั้ง 10 ราย เป็นความผิดฐานร่วมกันสร้างราคาหลักทรัพย์ ตามมาตรา 244/3(1)(2) ประกอบมาตรา 244/5 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/1 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ* กับผู้กระทำความผิดทั้ง 10 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
(1) ให้นางสาวพรพิน ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 41,283,825 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 23 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 46 เดือน
(2) ให้นายธนกร ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,184,838 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 20 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 40 เดือน
(3) ให้นางสาวยุพิน ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,035,780 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 20 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 40 เดือน
(4) ให้นายนฤชิต ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,035,780 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 28 เดือน
(5) ให้นางเกสร ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,542,252 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 28 เดือน
(6) ให้นายวิรัช ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 542,655 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 28 เดือน
(7) ให้นายวิชัย ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,627,697 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 28 เดือน
(8) ให้นางดรุเณศ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 551,443 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 28 เดือน
(9) ให้นางสาววิมณฑา ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,797,291 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 20 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 40 เดือน
(10) ให้นายปราโมทย์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,178,630 บาท และห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 28 เดือน
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ : * มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559