
“แถมใช้ AI ช่วยวิเคราะห์จับพิรุธกลุ่มก้อน - จุดทิ้งโพย - จุดเข้าออกสุมหัวกัน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 เม.ย.68 ที่อาคาร อิมแพ็ค ฟอรัม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา และ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้นำกลุ่มสว.สำรอง ร่วมกันเข้าสังเกตการณ์ ตรวจสถานที่คัดเลือก สว. ระดับประเทศ และจำลองเหตุการณ์ เพื่อประกอบการสอบสวนคดีพิเศษในคดีฟอกเงิน สว. (คดีพิเศษที่ 24/2568) และใช้ประกอบการไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า สำหรับผู้ที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอ รวมทั้งพยานที่เป็นผู้สมัคร สว. วันนี้ได้พามานำชี้จุดที่เป็นการเลือกระดับประเทศ ซึ่งมีการกล่าวหาว่าในการเลือกครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม และมีการกล่าวหาในคดีอาญาด้วย เบื้องต้นดีเอสไอได้รับคดีพิเศษฐานฟอกเงิน และล่าสุดเพิ่งรับฐานความผิดอั้งยี่เป็นคดีพิเศษด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน
ดังนั้น การรวบรวมพยานหลักฐานจะเป็นรูปแบบภาพกว้างขึ้น รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ

อีกทั้งวันนี้พยานและผู้กล่าวหาได้นำชี้จุด เราจะได้มาดูว่าที่มีการกล่าวหาว่า มีการพบโพยตรงส่วนไหน มีการรวมตัวกันตรงไหน ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่เราได้มา มันเกิดจากกล้องตัวไหน มันเห็นมุมไหนบ้าง เพื่อที่จะได้นำไปวิเคราะห์และจัดทำภาพถ่ายและแผนที่จำลองสถานการณ์ ดังนั้น เวลาเราเรียกพยานมาสอบปากคำ จะได้ชี้จุดถูกต้องว่าพยานรายนี้อยู่ตรงจุดไหนในวันเกิดเหตุ และเห็นเหตุการณ์อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับพยานหลักฐานทั้งหมด รวมถึงพยานผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์ว่าการเลือก การลงคะแนนในลำดับซ้ำกัน เช่น ลำดับที่ 1 เบอร์นี้ ลำดับที่ 2 เบอร์นั้น ที่มีลักษณะซ้ำกัน จะเกิดขึ้นได้ด้วยเปอร์เซ็นต์เท่าไร
อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยอีกว่า สำหรับเชิงเทคนิคของระบบ AI ตนจะยังไม่ขอลงรายละเอียดขนาดนั้น แต่เราจะใช้ AI เข้ามาวิเคราะห์ในเรื่องนี้ เพราะถ้าได้ภาพทุกคนที่เข้ามา ภาพคนที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด ใครอยู่ตรงไหน มีพฤติกรรมอย่างไร ทุกอย่างมันก็วิเคราะห์ได้หมด และนำไปสู่การพิจารณาว่ามันสอดคล้องกับข้อเท็จจริง พยานหลักฐานมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะอย่างน้อยเราได้มาดูจุดที่ผู้กล่าวหาได้นำชี้จุดว่ามีการเข้ามาอย่างไร พื้นที่ตรงไหน หรือตรงไหนมีการรวมตัว ตรงห้องน้ำมีการพบโพยอย่างไร เพื่อไปดูกับกล้องวงจรปิดเปรียบเทียบกัน เป็นต้น

จากการที่ สว.สำรอง พาชี้จุดและจากไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดที่ดีเอสไอได้รวบรวมมานั้น จะมีความสอดคล้องหรือตรงกันแค่ไหน คงต้องใช้การวิเคราะห์ก่อน เพราะวันนี้เพียงมาเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงกลับไปเปรียบเทียบพิจารณาด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยวิเคราะห์ นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องโพยในห้องน้ำที่มีการกล่าวอ้าง จะถือเป็นพยานหลักฐานชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้พบโพยแค่ที่นี่ที่เดียว
ทั้งนี้ ในส่วนของกรอบระยะเวลาสอบสวนคดีนั้น ในการดำเนินคดีอาญา เราต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน ต้องมีหลักฐานตามสมควรว่ามีบุคคลใดบ้างที่ได้กระทำผิดอาญา ในส่วนของดีเอสไอที่ไปร่วมกับ กกต. ในชุดคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน จะมีการพิสูจน์ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ตรงส่วนนี้เราทำร่วมกับ กกต. หากพยานหลักฐานฟังได้ความว่าการเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ก็เป็นเรื่องของ กกต. ที่จะดำเนินการ แต่ถ้าคดีอาญาก็ต้องเป็นดีเอสไอรับผิดชอบ
ส่วนภาพนิ่งจากกล้องวงจรปิดที่ได้มีการบันทึกมานั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ แต่เบื้องต้นพบว่ามีการโชว์บัตรคะแนน ซึ่งบัตรคะแนนนั้นจะสอดคล้องกับโพยที่ผู้กล่าวหาได้ระบุว่า ตรงกับโพยที่พบในห้องน้ำ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้สูตรการคำนวนและวิเคราะห์อีกครั้ง ยกตัวอย่าง มีการกาเบอร์ใดให้เป็นลำดับที่ 1 เบอร์ถัดไปเป็นเบอร์ลำดับที่ 2 จนครบ แต่ปรากฏว่ามันเป็นการกาเบอร์ในลักษณะซ้ำกันในหลายๆ บัตร ตรงนี้อาจต้องวิเคราะห์ว่ามันมีการกระทำจัดตั้งเป็นกลุ่มบุคคล มีการที่จะตกลงกันให้ได้มาซึ่ง สว. โดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่
การที่เราใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ มันคือวิทยาศาสตร์ มันมีความหนักแน่นและน่าเชื่อถือ เมื่อไปสอดคล้องกับพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ หรือการโอนเงินต่าง ๆ มันจะฟังได้มีน้ำหนักมากขึ้นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ส่วนจะทันกรอบเวลาเดือนหน้าของ กกต. หรือไม่นั้น ตนมองว่าเป็นคนละส่วนกัน ทาง กกต. จะมีการไต่สวน ยื่นหรือไม่ยื่น แล้วแต่ กกต. แต่ถ้าดีเอสไอ จะเป็นการทำคดีอาญาตามที่มีผู้กล่าวหา ตรงนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร

ต่อคำถามที่ว่าการใช้ระบบ AI CCTV เข้ามาตรวจสอบวิเคราะห์ จะเน้นไปที่กลุ่ม 140 สว. ที่อยู่ในวันเกิดเหตุหรือไม่ ว่าอยู่จับกลุ่มหรือทำอะไรกัน พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า เราจะดูภาพรวม เป็นการวิเคราะห์ในภาพรวม ส่วนใครจะมีพฤติกรรมอย่างไร แล้วไปสอดคล้องกับพยานบุคคล หรือพยานอื่นอย่างไร จะทำให้มีการเพิ่มหรือเสริมน้ำหนักขึ้น แต่ถ้ามันไม่ตรง ก็จะได้เป็นการหักล้าง ไม่ได้ไปเพิ่มน้ำหนักอะไร ทั้งนี้ เราพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา จึงต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย รวมไปถึงการนั่งรถบัสมาด้วยกัน การสวมใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน เราจะนำมาพิจารณาทั้งหมดแน่นอน ส่วนหลักฐานการเข้าพักโรงแรมที่เดียวกัน หลักฐานตรงนี้เราได้รับจากส่วนอื่นแล้ว แต่ไม่ได้อยู่ในภาพการจำลองวันนี้
"การเลือกลงคะแนน หรือโพยปรากฏตัวเลขเรียงกัน ซ้ำกัน มันสามารถใช้วิเคราะห์ได้ตามหลักสถิติ เพราะผู้เชี่ยวชาญทางด้านคณิตศาสตร์จะระบุได้เลย สมมติมีการกาเลขลำดับที่ 1-7 แล้วอีกใบลงคะแนนก็กาเรียงลำดับเหมือนกัน และซ้ำ ๆ กัน นักคณิตศาสตร์วิเคราะห์ได้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้นั้นมีกี่เปอร์เซ็น ผิดปกติอย่างไร ถ้าหากลองเปิดหีบกล่องลงคะแนนออกมา เราก็เชื่อได้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น อาจเจอบัตรลงคะแนนกาเรียงลำดับหมายเลขซ้ำ ๆ กัน ทั้งนี้ 20 กลุ่มอาชีพ คือ 20 หีบลงคะแนน ส่วน 1 หีบจะซ้ำกันกี่บัตรลงคะแนน จะต้องไปตรวจสอบดู เพราะมันอยู่ในกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว" อธิบดีดีเอสไอ กล่าว