เรื่องของการ “ปลดล็อค” เปิดเสรีกัญชาที่กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town อยู่ในเวลานี้...
หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ย.65 เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ในการควบคุมการจำหน่ายและใช้ประโยชน์จากช่อดอกกัญชา จากเดิมที่เปิดเสรีกันไปหมดแล้ว ทั้งที่การร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ..... ที่กระทรวงสาธารณสุขและพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โม่แป้งมาตั้งแต่ปีมะโว้ที่จะรองรับนโยบายการเปิดเสรีกัญชานั้น ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ แต่อย่างใด
และยังมีแนวโน้มที่ร่างกฎหมายดังกล่าว จะถูกพรรคร่วมรัฐบาลและพลพรรคฝ่ายค้านร่วมกัน “ปิดประตูลั่นดาน” เสียด้วยอีก เลยกลายเป็น “สุญญากาศ” ของกฎหมาย ที่ สธ. เปิดเสรีกัญชาออกไปแล้วทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จนต้อง “วิ่งพล่าน” ลนลานออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข และอาศัยกฎหมายอื่นๆ ไม่รู้กี่ฉบับต่อกี่ฉบับออกมาบังคับใช้ไปพลาง อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นความไม่พร้อมของนโยบายเปิดกัญชาเสรีโดยแท้
ทั้งที่โดยหลักการ เมื่อรัฐจะเปิดเสรีกัญชง กัญชา ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษเพื่อให้สามารถนำเอาส่วนต่างๆ ของกัญชง กัญชาไปใช้ประโยชน์ จะเพื่อการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร หรือแม้แต่เพื่อสันทนาการก็ตาม จำเป็นที่รัฐและ สธ.จะต้องมีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะ ว่าสิ่งไหนที่ทำได้-ทำไม่ได้
สธ. กับการวิ่งพล่าน.. ขายผ้าเอาหน้ารอด
โดยเฉพาะนิยามของการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ที่ว่านั้น ครอบคลุมไปถึงไหน อย่างไร การผลิต จำหน่ายและแปรรูแปจะทำได้มากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องมีความชัดเจนในตัวกฎหมายและมาตรการควบคุม ไม่ใช่ต้องคอย “วิ่งพล่าน” แก้ไขปัญหาแบบ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้
มันจึงคิดไปเป็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากเบื้องหน้าเบื้องหลังการเปิดเสรีต้องมี “ธุรกิจสีเทา” ชักใยอยู่เป็นแน่ จึงไม่แปลกใจที่ในทันทีที่ สธ.”ปลดล็อค” เปิดเสรีกัญชา รุ่งเช้าเหล่าสิงห์อมควัน สาวกบ้องตันทั้งหลายพากันตั้งโต๊ะขายผลิตภัณฑ์กัญชากันโจ๋งครึ่ม แม้แต่บ้องกัญชาหรือการหั่นซอยและม้วนกัญชาเพื่อการเสพให้ถึงอรรถรสต้องทำอย่างไรก็ยังมีให้เห็น
จนแยกไม่ออกว่า ส่วนไหนคือกัญชาเพื่อการแพทย์ ส่วนไหนคือกัญชาเพื่อสันทนาการหรือการเสพ เพราะ สธ.เองไม่ได้มีการตระเตรียมสิ่งเหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่แรก ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนคนไทยได้รู้จักแยกแยะว่า ส่วนไหนที่รัฐเปิดเสรี ส่วนไหนของกัญชาที่สามารถใช้เพื่อการแพทย์ เพื่อการรักษา และส่วนไหนที่ไม่สามารถทำได้ กลายเป็นความโกลาหลของการเปิดเสรีจนต้องวิ่งพล่านล้อมคอกกันตามไม่สิ้นสุด
ปลดล็อคเปิดเสรี.. ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม
ล่าสุด สธ.ก็ออกประกาศ เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่ควบคุมการใช้ประโยชน์จากช่อดอกกัญชา ในทุกรูปแบบ กำหนดให้การศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย แปรรูปช่อดอกกัญชา ต้องได้รับใบอนุญาตในทุกรูปแบบ, ห้ามจำหน่ายให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา , ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการ ยกเว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม, ห้ามจำหน่ายผ่านเครื่องสินค้าอัตโนมัติ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และทั้งห้ามโฆษณาทุกช่องทางเพื่อการค้า ห้ามจำหน่ายในสถานที่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา , หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก , สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก เป็นต้น
เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมจนต้องงัดมาตรการแบบ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ของ สธ. ทั้งที่มาตรการเหล่านี้ควรจะออกมาตั้งแต่ปีมะโว้ ก่อน สธ. จะ “ปลดล็อค” ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว เพราะเป้าหมายของกระทรวงที่ต้องการผลักดันนโยบายกัญชง กัญชาเสรีนั้น ก็เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงกัญชาเพื่อการแพทย์เป็นหลัก และสามารถต่อยอดกัญชง กัญชาในระดับชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริมอีกทาง
ไม่แปลกใจเอาเลยที่พรรคฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง จะดาหน้าออกมาถล่มมาตรการรองรับการเปิดเสรีกัญชาของ สธ. ก่อนหน้านี้ รวมทั้งคัดค้านร่างกฎหมายเปิดเสรีกัญชาของ สธ. ที่ยังคงค้างเติ่งอยู่ในสภา เพราะที่ผ่านมา สธ.ไม่ได้อธิบายให้สังคมเข้าใจเลยว่า การใช้ประโยชน์กัญชาเพื่อการแพทย์ และกัญชาเพื่อสันทนาการนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร ส่วนไหนที่ประชาขนทำได้ ไม่ได้อย่างไร
กัญชาทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องเปิดเสรี
จะว่าไปการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ ก็มีช่องทางที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องปลดล็อคเปิดเสรีอย่างที่ สธ.กำลังดั้นเมฆดำเนินการอยู่นี้ เช่นเดียวกับการใข้ “มอร์ฟีน” เพื่อการรักษาผู้ป่วย โดยที่ไม่ได้มีการเปิดเสรีแต่อย่างใด
จึงไม่แปลกใจที่วันวาน นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย พร้อม 5 ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจะร่วมกันฟ้องนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 ที่ถอดกัญชา ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อให้กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่รัฐจำเป็นต้องควบคุมเช่นเดิม พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเอาไว้ก่อนการพิพากษา
โดย นพ.สมิทธิ์ กล่าวว่า การที่ รมว.สธ. และ ป.ป.ส. ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 เป็นผลให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไปนั้น เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เพราะการออกประกาศฉบับดังกล่าวไม่มีมาตรการทางกฎหมายออกมาควบคุม คุ้มครองประชาชนผู้บริโภค ไม่ต่างไปจากการที่ สธ. ปล่อยสิงห์สาราสัตว์ออกมาจากกรง โดยไม่ได้แยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร เสร็จแล้วตึงมาคอยคิดอ่านว่าจะหาทางแยกจับอสรพิษร้ายออกจากฝูงสิงห์สาราสัตว์ที่ปล่อยออกไปได้อย่างไร
ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ ควรจะได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่แรกก่อนปลดล็อคเปิดเสรี และถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เพราะเมื่อเสียค่าโง่ไปแล้วหนหนทางในอันที่จะออกกฎหมายควบรวมหรือออกมาตรการสกัดกั้นในภายหลังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายปลดล็อค-เปิดเสรีกัญชาเพื่อการแพทย์ของ สธ. ว่า เป็นการดำเนินนโยบายในลักษณะที่เรียกว่า Abuse of Power ที่เกินเลยไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะนโยบายปลดล็อค-เปิดเสรีดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังจะทำให้ประเทศไทยเป็น “ขี้โรคแห่งเอเชีย” ขึ้นมาสักวัน
เพราะไม่มีประเทศใดที่เปิดเสรีทางการแพทย์ในลักษณะเช่นนี้ แม้แต่การจะซื้อหยูกยาสามัญประจำบ้านมากินแก้ไข้หวัดหรือโรคครั่นเนื้อครั่วตัวสักแผง รัฐและ สธ.ก็ยังกำหนดให้สถานที่ขายยาเหล่านั้น ต้องมีเภสัชกรประจำร้านเป็นผู้สั่งจ่ายยา ไม่ใช่ใครคิดจะเปิดร้านขายยาก็เปิดได้แบบเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวมันไก่
ยิ่งเป็นกัญชาด้วยแล้ว หากจะต้องมีการจำหน่ายเพื่อการแพทย์จริงๆ ก็ยิ่งต้องมีการควบคุมมากกว่ายาสามัญประจำบ้าน เพราะพิษสงของกัญชานั้น มีความรุนแรงยิ่งกว่าสมุนไพรอื่น ๆ หลายเท่า แม้แต่อาหารที่มีส่วนผสมกัญชานั้น หากไม่มีการควบคุมจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งเหล่านี้จนถึงวันนี้ สธ. ก็ยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน กลับโยนกลองให้เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบกันไปเอง ไม่เกี่ยวข้องกับ สธ.
นโยบายสุดพิลึก! ควบคุมบุหรี่-เปิดเสรีกัญชา
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่รัฐบาลและ สธ. ไม่เคยได้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนคนไทยมาเลย ก็คือ ในชณะที่รัฐบาลและ สธ. ดำเนินมาตรการในทุกวิถีทางในการควบคุมการจำหน่ายและบริโภคบุหรี่ ดำเนินมาตรการในทุกวิถีทางในการสกัดกั้น “สิงห์อมควัน” ในการเข้าถึงบุหรี่ ด้วยข้ออ้างพิษภัยของบุหรี่ที่มีสารก่อมะเร็ง และโรคภัยอื่นๆ จิปาถะ
กระทรวงการคลังเองก็ขานรับด้วยการปรับปรุงภาษีสรรพสามิตบุหรี่ครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งล่าสุดที่เพิ่มปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ขึ้นไปเต็มเพดาน ทั้งด้านราคาและปริมาณ จนทำให้ราคาบุหรี่ในประเทศแพงขึ้นไปจมหู สุดที่สิงห์อมควันจะเอื้อมถึง แม้แต่บุหรี่ของ “การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)” เอง ก็แพงบรรลัยไปด้วย
แต่แทนที่จะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ลดการบริโภคบุหรี่ลงตามเป้าหมาย ก็กลับกลายเป็นว่า ไม่เพียงยอดจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่จะลดลงอย่างน่าใจหาย ยังทำให้บุหรี่เถื่อนทะลักเข้าสู่ตลาด โดยที่กลไกที่เกี่ยวข้องกับการปราบปราม ไม่สามารถต้านทานได้ นัยว่าเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ร้านรวงที่จำหน่ายบุหรี่เถื่อนผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดจากเดิมที่มีอยู่เพียง 35-40 ร้าน ล่าสุดมีตัวเลขออกมาอย่างไม่เป็นทางการมากกว่า 135-140 ร้านค้าเข้าไปแล้ว กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภาคใต้
ขณะที่ผลพวงจากนโยบายปรับปรุงภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ยังทำให้การยาสูบฯ พลอยได้รับผลกระทบ จากที่เคยมีรายได้นำส่งรัฐสูงเป็นอับดับ 1 เมื่อ 4-5 ปีก่อนแต่วันนี้ กลับอยู่ในสภาพหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง จ่อจะต้องปิดตัวเองลงอยู่รอมร่อ เพราะยอดขายบุหรี่ของ ยสท. ทรุดฮวบเหลือไม่ถึง 7,000 หีบ/วันเท่านั้นในปัจจุบัน
ขณะที่เป้าหมายในการปรับปรุงภาษีเพื่อลดการบริโภคของสิงห์อมควันที่ว่ากลับไม่เคยได้เห็น ตัวเลขของสิงห์อมควันที่เคยมีอยู่ 9-11 ล้านคน เมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมา ผ่านมาวันนี้ก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับ 9.5-10 ล้านคนอยู่ดี อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายการควบคุมบุหรี่ที่รัฐบาลดำเนินการในช่วงที่ผ่านมานั้น ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง!
กระนั้น รัฐบาล สธ. และกระทรวงการคลัง ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะควบคุมการบริโภคและพยายามในทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นการเข้าถึงบุหรี่ในทุกรูปแบบ แม้กระทั่ง “บุหรี่ไฟฟ้า” และ “ผลิตภัณฑ์ไร้ควัน (Smoke-free Product)” ที่เป็นหนทางเลือกสำหรับสิงห์อมควันที่ไม่สามารถจะเลิกสูบบุหรี่ได้ก็ยังถูก “ปิดประตูลั่นดาน” ไม่ยอมให้ย่างกรายเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย
ทั้งที่ผลิตภัณฑ์ไร้ควันที่ว่านี้ เป็นทางเลือกสำหรับสิงห์อมควันที่ไม่สามารถจะลดเลิกบุหรี่ได้ เนื่องจากร่างกายเสพติดและต้องการ “นิโคติน” ที่อยู่ในบุหรี่ แต่การจุดบุหรี่และการเผาไหม้บุรี่ตามปกตินั้น แม้จะให้นิโคตินแต่ก็ให้สารอันตรายอื่น ๆ อีกนับสิบตัวออกมาด้วย จึงทำให้ผู้ผลิตมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ในการลดการเผาไหม้และควบคุมการเผาไหม้บุหรี่ ให้ระเหยนำเอาแต่สารนิโคตินออกมา ควบคุมสารอื่น ๆ ไม่ให้ถูกเผาไหม้ตามออกมาด้วย
นัยว่ากว่า 70 ประเทศทั่วโลก ได้เปิดกว้างให้ “บุหรี่ไฟฟ้า” หรือผลิตภัณฑ์ไร้ควันเข้าไปทำตลาดทดแทนบุหรี่ซิกกาแร็ตกันหมดแล้ว เพื่อลดพิษภัยของการสูบบุหรี่ และลดการบริโภคบุหรี่ เป็นทางเลือกให้สิงห์อมควันทั้งหลาย ซึ่งไม่เพียงจะลดพิษภัยของบุหรี่ลงยังช่วยให้สิงห์อมควันได้อยู่ในสังคม โดยไม่สร้างปัญหาให้ผู้คนแวดล้อม ทั้งยังทำให้รัฐจัดเก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ว่านี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงมีแนวคิดที่ฝังรากลึกอยู่กับบุหรี่ดั้งเดิม และยังคงมองว่า บุหรี่ไฟฟ้าหรืออะไรก็ตามแต่ก็มีอันตรายไม่ผิดกัน โดยยังคงผลักดันมาตรการสกัดกั้นการเข้ามาของบุหรี่ไฟฟ้าที่ว่านี้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยไม่ยอมพิจารณาถึงหนทางเลือกที่ว่านี้ ทั้งที่สินค้าและบริการทุกชนิดประเภทล้วนแล้วแต่มีสินค้าทางเลือก มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยออกมากำกับดูแลเป็นการเฉพาะ แม้แต่ “เหล้า เบียร์” เอง ภาครัฐยังยอมให้มีหนทางเลือกในการจำหน่ายเบียร์แอลกอฮอล์ 0% เป็นหนทางเลือก แต่กับบุหรี่ซิกกาแร็ตนั้นกลับตรงกันข้าม ภาครัฐกลับยังคงปิดประตูลั่นดานสินค้าที่เป็นหนทางเลือกเป็น HARM Reduction
ตรงกันข้ามกับการปลดล็อคเปิดเสรีกัญชา ที่มีพิษภัยมากกว่าบุหรี่เป็น 100 เท่า แต่ สธ. กลับเดินหน้าเปิดเสรีโดยปราศจากการควบคุม และไม่รู้ว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐจะจัดเก็บภาษีจากนโยบายเปิดเสรีที่ว่านี้ได้สักกี่มากน้อย เพื่อแลกกับพิษภัยของกัญชาที่จะเกิดตามมา
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การปลูกกัญชาโดยเฉพาะในระดับรากหญ้าที่ถูกเป่าหูให้ปลูกกัญชากันได้โดยเสรี ด้วยข้ออ้างไม่ต่างจากปลูกตะไคร้ ใบมะกรูดริมรั้วอะไรนั้น กัญชาสายพันธุ์ดังกล่าว มันมีแต่สารเมา THC ที่เขาเอาไว้เพื่อเสพ พี้ และสันทนาการเป็นหลักเท่านั้น ปลูกให้ตายยังไงก็ก็อุดมไปด้วยสารเมา THC เป็นหลัก ที่หาใช่กัญชาที่ใช้ในวงการแพทย์ที่จะต้องมีการควบคุมการปลูก การผลิตและสกัดเพื่อให้ได้สาร CBD ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรมอาหาร !
กลายเป็นนโยบายสุดพิลึกพิลั่นของ สธ. และรัฐบาลไปแล้วในเวลานี้!
…
หมายเหตุ : อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม..
เนตรทิพย์:Special Report
ชำแหละ 2 ปี ยกเครื่องภาษีบุหรี่ ผลงานชิ้นโบดำรัฐบาล คสช. (ตอนที่1)
http://www.natethip.com/news.php?id=1441
เนตรทิพย์:Special Report
เสียงสะท้อนบุหรี่นอก PMI : เรากำลังเดินหน้าเลิกขายบุหรี่ (ตอนที่2)
http://natethip.com/news.php?id=1494
เนตรทิพย์:Columnist
7 ปี กับบุหรี่ไฟฟ้า
http://www.natethip.com/news.php?id=4703