นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขยายวงกว้างไปยัง 33 จังหวัดทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ เชียงราย พะเยา สุโขทัย หนองคาย นครพนม พิจิตร สกลนคร พิษณุโลก และอุดรธานี เป็นต้น นอกจากนี้ มวลน้ำที่ไหลผ่านเข้าสู่ภาคกลางประกอบกับแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มต่อเนื่องอีกระลอก ทำให้หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อไปอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งจัดทำแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจน ก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก โดยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ติดตามอย่างใกล้ชิดและประเมินมูลค่าความเสียหายแล้ว ประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.17% ของ GDP (ข้อมูล ณ 28 ก.ย. 67) ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 1,826,812 ไร่ ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 24,553 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 5,121 ล้านบาท
ส่วนภาคอุตสาหกรรมเสียหายราว 171 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากมีการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ดี สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 3,292 ล้านบาท สุโขทัย 3,042 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้าน นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งที่เกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหายและเยียวยาประชาชนในส่วนนี้กว่าปีละแสนล้านบาท ดังนั้น หอการค้าฯ จึงเห็นว่าประเทศไทยควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ โดยได้จัดทำข้อเสนอทั้งเชิงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (Infrastructure and Water Management) รวมถึงข้อเสนอเชิงสนับสนุนใน 6 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1) การศึกษาปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค สำรวจปัญหา/อุปสรรคและข้อเสนอแนะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปยังหอการค้าจังหวัดในแต่ละมิติ เช่น เครื่องมือ/อุปกรณ์การบริหารจัดการน้ำ ระบบบริหารจัดการ การซ่อมบำรุง และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสะท้อนแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างครอบคลุม
2) จัดกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ฐานข้อมูลด้านน้ำ เพื่อเป็นแนวทางวางแผนและบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม/น้ำแล้ง) จัดกิจกรรมอบรมการใช้งาน Application หรือ website เกี่ยวกับฐานข้อมูลน้ำ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยฉพาะ "คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ" หรือ "Thaiwater.net" ให้กับหอการค้าจังหวัดในระดับภาค เพื่อให้ตระหนักรู้และสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านน้ำ มาเป็นแนวทางในการวางแผนและบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบและรองรับการเกิดภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์
3) แนวทางการจัดตั้ง War Room ของรัฐบาลเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ภาคเอกชนสนันสนุนแนวทางที่รัฐบาลได้จัดตั้ง War Room เพื่อทำการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะในพื้นซึ่งมีความเสี่ยงต่ออุทกภัย ตลอดจนการคาดการณ์ การแจ้งเตือน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
4) สนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภาคเอกชนสนันสนุนการออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน และผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้ง อาจพิจารณาขยายผลไปยังการออกมาตรการด้านการประกันภัยที่มีความเหมาะสม เพื่อเยียวยาและช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง
5) การบูรณาการ การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แนวทางการบริหารจัดการลำน้ำ/ แม่น้ำร่วม ซึ่งมีปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่มักเกิดบนพื้นที่ทับซ้อน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ดังนั้น ควรใช้กลไกทางการเมือง การฑูต เข้าไปบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงให้มีการจัดระเบียบของเมืองทางกายภาพ วางแนวทางน้ำไหลตามระดับสูงต่ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งจัดทำคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำแบบบูรณาการทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน นอกจากนี้ ขอให้นำวิธีการแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น การจัดการน้ำชุมชนนอกเขตชลประทาน มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ที่มีให้มากขึ้นและขนาดใหญ่ขึ้น (Scale Up) ประกอบกับนำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยมาปรับใช้ประกอบ ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม
6) ทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ (Prioritization) โดยภาครัฐทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ตลอดจน วางแผนบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม น้ำแล้ง) ในระยะยาวเพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการจัดสรรงบประมาณในการป้องกันภัยพิบัติ การเตรียมการกักเก็บน้ำ รวมถึงการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ แนวทางการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงขาดแคลน รวมทั้งแนวทางอนุรักษ์น้ำรองรับการอุปโภค บริโภค และการใช้เชิงพาณิชย์ อย่างยั่งยืน
นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายสมาคมการค้า กล่าวว่า สมาคมการค้าภายใต้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อาทิ สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สมาคมการค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และดีไซน์ สมาคมการค้ากลุ่มประมงและปศุสัตว์ สมาคมการค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สมาคมการค้ากลุ่มยา เวชภัณฑ์ อาหารเสริม เครื่องสำอางและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมผู้ผลิตสีไทย และสมาคมโรงแรมไทย ฯลฯ ได้ร่วมกันระดมความช่วยเหลือ ทั้งเงินสนับสนุน สิ่งของอุปโภค-บริโภค ยา-เวชภัณฑ์ อาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย มูลค่ารวมกว่า 5.7 ล้านบาท เพื่อนำความช่วยเหลือไปยังจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการค้าปลีกและบริการ ได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง (Modern Retail & Wholesale) ชั้นนำของประเทศ ระดมแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการจัดแคมเปญลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังมีอีกหลายบริษัทในเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนตามมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต โดยมูลนิธิมาดามแป้ง (คุณนวลพรรณ ล่ำซำ) ได้ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในจังหวัดเชียงรายและหนองคาย พร้อมส่งมอบอาหารปรุงสุกและถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ชุด, กลุ่มธุรกิจTCP และ บริษัท เดอเบล จำกัด ได้ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยใน พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก โดยมอบเรือ จำนวน 50 ลำ ถุงยังชีพ จำนวน 6,100 ชุด รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม มูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจากหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ระดมการเปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีพ เช่น น้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารสำเร็จรูป และอุปกรณ์ทำความสะอาด เป็นต้น พร้อมทั้งจัดส่งโดยตรงไปยังพื้นที่จังหวัดที่กำลังเดือดร้อน เช่นเดียวกับหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ที่ได้ส่งความช่วยเหลือด้านสาธารณภัยต่าง ๆ ผ่านหอการค้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง ด้านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมเป็นสื่อกลางในการเปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งออกมาตรการยกเว้นค่าปรับการชำระค่าเทอมล่าช้าสำหรับนักศึกษาปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ประสงค์บริจาคเงินสมทบ เพื่อส่งมอบน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สามารถร่วมบริจาคเงินผ่านทางบัญชี “มูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์” หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย สาขาเสาชิงช้า (ออมทรัพย์) บัญชีเลขที่ 004-2-39457-2 (เงินบริจาค สามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า) หรือ ติดต่อบริจาคได้ที่: ฝ่ายพัฒนาสังคมฯ หอการค้าไทย โทรศัพท์: 02-018-6888 ต่อ 2830 (อิสริยาภรณ์) หรือ 2860 (รัตน์วรา) E-mail: isariyaporn.pu@thaichamber.org หรือ ratwara.th@thaichamber.org