สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผย 9 เดือนของปี 2567 (เดือนมกราคม – กันยายน 2567) ยอดใช้พลังงานขั้นต้นลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ลดลงจากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีขึ้น ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายร้อยละ 2.3 คาดการณ์การแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ของ สศช. ขยายตัวร้อยละ 3.0 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 และ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 2.2 ตามลำดับ รวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยมีปัจจัยหลักจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.0 การอุปโภคภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.6 ส่วนการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.4
สถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนของปี 2567 (เดือนมกราคม – กันยายน 2567) พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นอยู่ที่ 2,030 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 โดยลดลงในส่วนของการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ที่ปรับตัวลดลง จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ในขณะที่การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากไฟฟ้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนของปี 2567 สรุปได้ดังนี้
การใช้น้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ระดับ 139 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นการเพิ่มของการใช้น้ำมันเครื่องบินและ LPG โดยการใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่ระดับ 31 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของโครงข่ายรถไฟฟ้าและการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV สำหรับการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 69 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากฐานการใช้ที่สูงกว่าปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีนโยบายให้ใช้น้ำมันดีเซลในโรงไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติในช่วงต้นปี 2566 ที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูง ประกอบกับความต้องการใช้ในภาคขนส่งทางบกที่ลดลง ด้านการใช้น้ำมันเครื่องบิน อยู่ที่ระดับ 16 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 เนื่องจากความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกลับมาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้านน้ำมันเตา อยู่ที่ระดับ 5 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงร้อยละ 13.0
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG โพรเพน และบิวเทน) อยู่ที่ระดับ 19.0 พันตันต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 46 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 รองลงมาคือ ภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็นร้อยละ 30 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ภาคขนส่ง มีสัดส่วนร้อยละ 14 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ส่วนภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 9 มีการใช้ลดลงร้อยละ 6.1 และการใช้เองซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1 มีการใช้ลดลงร้อยละ 11.6
ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ระดับ 4,588 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เป็นการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า รองลงมา คือ การใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ การใช้ในอุตสาหกรรม และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV) ตามลำดับ ทั้งนี้ การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 12.4 และการใช้ NGV ลดลงร้อยละ 16.8
ส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ อยู่ที่ระดับ 10,033 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงร้อยละ 10.7 โดยการใช้ถ่านหิน ลดลงร้อยละ 12.6 จากการใช้ที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 23.2 และการใช้ในโรงไฟฟ้า SPP ลดลงร้อยละ 34.6 ขณะที่การใช้ในโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.0 ทั้งนี้ ในส่วนการใช้ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 3.5 โดยการใช้ลิกไนต์ทั้งหมดเป็นการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.
นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้ไฟฟ้า ช่วง 9 เดือนของปี 2567 รวมทั้งสิ้น 163,311 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ร้อยละ 41 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมอาหาร เหล็กและโลหะพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก ที่มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 1.6 10.5 และ 3.4 ตามลำดับ ในส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อน ส่งผลให้มีความต้องการไฟฟ้าในเครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นเพิ่มขึ้น และการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในโรงแรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 71 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 68 ส่วนการใช้ไฟฟ้าของอะพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ ห้างสรรพสินค้า ขายปลีก และขายส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 5.6 7.6 และ 5.1 ตามลำดับ
ในส่วนของการคาดการแนวโน้มพลังงานของปี 2567 นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวว่า สนพ. ได้จัดทำแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 โดยพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์พลังงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ ปี 2567 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.6 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศ สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2567 คาดว่าอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้คาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้นของปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2,013 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งไฟฟ้านำเข้า
การใช้น้ำมัน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 821 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากการใช้น้ำมันเครื่องบินตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการท่องเที่ยวภายในประเทศ
การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 860 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 โดยเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า
การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 260 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงร้อยละ 10.0 จากการลดลงของการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม และการใช้ลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้า และคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 216,087 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปี 2566 สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงต้นปีจากภาวะเอลนีโญ (El Niño) รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวของภาคการส่งออก ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในทุกสาขาเศรษฐกิจโดยเฉพาะสาขาธุรกิจและการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก สนพ. จะยังคงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป