เริ่มเข้มข้นขึ้นมาทุกขณะ..กับเส้นทางการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ ”กสทช.” ชุดใหม่ที่จะมาทดแทน กสทช.ชุดเดิม ที่ครบวาระไปตั้งแต่ปีมะโว้ แต่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ม.44 ทำให้ ”นั่งรากงอก” กันมากว่า 9 ปี ทำลายสถิติองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงไปอย่างราบคาบหลังจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลที่สนใจสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น "ว่าที่ กสทช." มาตั้งแต่วันที่ 14-28 ตุลาคม 2563 มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากรั้วมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ และองค์กรในภาคประชน ตบเท้าเข้าสมัครกว่า 80 คนใน 7 สาขา มากกว่าการสรรหาในครั้งก่อนเมื่อปี 2561 ที่มีผู้สมัครเพียง 53 คน ใครเป็นตัวเต็งในสายอ่อน สายแข็งอย่างไร ใครจะนอนมาอย่างไรนั้น คงได้เห็นเค้าลางกันบ้างแล้ว จึงไม่แปลกใจที่หลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นก็เริ่มมีกระแสข่าวสะพัด ตัวเต็งว่าที่ กสทช.ผู้สมัครคนนั้นคนนี้ขาดคุณสมบัติ คนโน้นกลุ่มทุนสื่อสารยักษ์ค่ายนั้นค่ายนี้ส่งเข้าประกวดและถึงขั้นมีกระแสข่าวอาจจะมีการล้มสรรหาอีกครั้ง เพราะการสรรหาครั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กสทช.เดิม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2560 ที่ยังคงมีประเด็นคลุมเครือในเรื่องของคุณสมบัติต้องห้ามบางประการอยู่ โดยไม่มีใครฉุกคิดคิดกันเลยว่า หากวุฒิสภาล้มการสรรหา กสทช. ไปอีกหน โฉมหน้ากิจการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมไทย จะล้าหลังโลกไปถึงไหนในบรรดาตัวเต็งที่ถูกระบุว่าขาดคุณสมบัตินั้น หลายคนหยิบยกเอาประเด็นในเรื่องของคุณลักษณะต้องห้ามตามวงเล็บ (12) ที่ระบุว่าผู้สมัครต้องไม่เป็น หรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปี ก่อนได้รับการเสนอชื่อ เลยมีการฟันธงกันใหญ่ ตัวเต็งคนนั้นคนนี้ปลิวแน่!ทั้งที่ “ลักษณะต้องห้าม” ตามบทบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยตีความเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้แล้วว่า คือบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม แต่บรรดาสถานีวิทยุของรัฐหลายร้อยสถานี ไม่ว่าจะเป็น วิทยุของกองบัญชาการกองทัพไทย วิทยุกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ หรือของสำนักงาน กสทช. (วิทยุ ปณ) ที่ถือเป็นสถานีหลักที่มีมานับแต่อดีตนั้นสถานีวิทยุเหล่านี้ไม่ใช่สถานีวิทยุที่ประกอบธุรกิจ แต่เป็นสถานีที่ได้รับจัดสรรมาเพื่อกิจการความมั่นคงบ้าง เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของรัฐบ้าง เงินที่ได้รับมาต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมดจึงหาได้เป็นกิจการต้องห้ามดังที่เข้าใจแต่อย่างใด เพราะหากไปตีความว่า ผู้เป็นนายสถานีวิทยุเหล่านี้เข้าข่ายต้องห้าม ก็มีหวังบรรดาเจ้ากรมกิจการสื่อสาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิของกองทัพ หรือหน่วยราชการทั้งหลาย คงพลอยโดนหางเลขขาดคุณสมบัติไปตามๆ กันสิ่งที่ทุกฝ่ายควรต้องตระหนักในนาทีนี้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเร่งกระบวนการสรรหา กสทช. ให้เสร็จโดยเร็ว เพราะทุกฝ่ายคงเห็นกันแล้วว่า กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันนั้นมีสภาพอย่างไร แทบจะนั่งหายใจรวยรินกินเงินเดือนกันไปวัน ๆ แล้ว ขนาดไปออกคำสั่งปกครองระงับการแพร่ภาพออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ อย่าง ”วอยซ์ทีวี” ก่อนหน้า หรือห้ามเพจชื่อก้องทั้งหลายเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบางประการ ยังถูกเขาฟ้องกลับจนแทบเอาตัวไม่รอดเพราะที่มาขององค์กรตนเองเป็นอย่างไรก็รู้อยู่เต็มอก อยู่ได้ก็เพราะอาศัยอำนาจตาม ม.44 เดิม ที่สิ้นสภาพไปหมดแล้วตั้งแต่ปีมะโว้ และผลพวงจากคำสั่ง ม.44 ในอดีตที่ว่านั่นแหล่ะ จึงทำให้ กสทช. ชุดปัจจุบันขึ้นทำเนียบเป็นองค์กรรากงอกที่ทำงานมาอย่างยาวนานที่สุดถึง 9 ปี หรืออาจเป็นสิบปี หากยังคงทู่ซี้ให้อยู่ต่อ ผลพวงจากการที่ กสทช.ชุดก่อนนั่งทำงานกันจนรากงอกนี้เอง จึงทำให้เกิดการสร้างอาณาจักรยึดโยง จนกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมไทย ไม่ขยับไปไหน แม้โลกดิจิทัลจะไหลบ่าเข้ามาครอบคลุมในทุกอณูของสังคมไทยไปแล้ว มีการหลอมรวมกิจการต่างๆ ทุกประเภท เข้ามาโลดแล่นอยู่บนแพลฟอร์มดิจิทัลออนไลน์กันหมดแล้ว แต่ กสทช.ประเทศไทยเราก็ยังคงนั่งหายใจรวยรินสบายใจเฉิบเห็นได้จากการประมูล 5จี ที่ กสทช. จัดประมูลกันซะใหญ่โตในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 63 จนสามารถดึงเงินประมูลเข้ารัฐได้กว่าแสนล้าน แต่ผ่านมาเกือบ 9 เดือนแล้ว ก็ยังไม่เห็นประเทศไทยจะขับเคลื่อนอะไรที่มันเป็นรูปธรรมจากเทคโนโลยี 5จีที่ว่านี้ได้ เราได้เห็นความเติบโตของธุรกิจขนส่งด่วนที่ผุดขึ้นมาเห็นดอกเห็ด เห็นตลาดการค้า ออนไลน์ e-commerce ที่ตีปี๊บมีมูลค่านับแสนล้านบาท แต่ประเทศไทยก็หาได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความเติบโตเหล่านั้นเอาไว้ได้ล่าสุดวันวาน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็เพิ่งจะเข้าไปจ่ายค่าใบอนุญาตการใช้คลื่น 26 GHz สำหรับให้บริการ 5จี โดยที่ไม่เห็นว่า กสทช. จะทำอะไรเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทสื่อสารต่างๆ ได้ลุยลงทุนโครงข่าย 5จี ที่ถือเป็นบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแม้แต่น้อย ทั้งหลายทั้งปวงก็เพราะขาดองค์กรที่จะมาขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างแท้จริงนั่นเอง เห็นอย่างนี้แล้ว เรายังจะพลอยเห็นดีเห็นงามไปกับการปัดแข้งปัดขาเพื่อ “ล้มกระดาน” การสรรหา กสทช. กันไปเรื่อย ๆ เพื่อจะได้อยู่กันแบบสุญญากาศอย่างนั้น หรือ ”ลุงตู่-ลุงป้อม” ที่เคารพ!