คำถามคือ.. วงเงินอุดหนุนการก่อสร้างที่ทางกลุ่มเสนอต่อรัฐสุทธิ 78,288 ล้านบาท โดยมีค่าก่อสร้างระบบงานโยธาอยู่ที่ 91,000ล้านบาท แต่เอาเข้าจริงกลับทำสัญญาจ้างบริษัทร่วมร่วมทุนกับพันธมิตรซิโน-ไทย วงเงินแค่ 59,950 ล้านบาทเท่านั้น ..
ส่วนต่างที่เหลืออีกกว่า 30,000 ล้าน อันตรธานไปไหนกันหรือ?
..
เหลือบไปเห็นข่าวสุดบิ๊กบึ้มของวงการรับเหมา ที่บริษัทรับเหมายักษ์ของเมืองไทย คือ กลุ่ม ช.การช่าง (CK) ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ (ที่หลายคนสัพยอกว่า ตอนนี้แปรสภาพเป็น “ตลาดลักทรัพย์” ไปแล้ว) วันก่อน (6 ธ.ค.) ว่า ช.การช่าง ได้ผนึกกลุ่ม ซิโน-ไทย จัดตั้งบริษัทร่วมทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่า 58,950 ล้านบาท
รายละเอียดเบื้องต้นของหนังสือที่ลงนามโดย นายอนุกูล ตันติมาสน์ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรมนุษย์และบริหารทั่วไป บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทได้ทำสัญญากิจการร่วมค้ากับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนค์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อว่ากิจการร่วมค้า "ซีเคเอสที-โออาร์" เพื่อรับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยมีสัดส่วนการร่วมลงทุน 51: 49 (ช.การช่าง 51% และบริษัท ซิโน-ไทยฯ ถือหุ้น 49%)
ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า "ซีเคเอสที-โออาร์" ได้ลงนามเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 มูลค่าสัญญาประมาณ 58,950 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 64 เดือน
หลายคนอ่านแล้วคงไม่อินังขังขอบอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติของแวดวงรับเหมาที่มักจะจับมือกันซับเอางานก่อสร้างจากผู้ชนะประมูลโครงการอยู่แล้ว
จึงไม่แปลกที่กลุ่มซิโน-ไทย ที่เคยร่วมกับ บีทีเอส (BTS) เข้าประมูลโครงการนี้ในรอบแรก แต่ถูก รฟม. ชิงยกเลิกการประกวดราคาไปก่อน จะกลับมารับจ๊อบรับงานก่อสร้างจากกลุ่ม ช.การช่าง ในภายหลัง
แต่ที่สังคมกังขากัน ก็คือ การประมูลโครงการนี้ของ รฟม. ที่ดำเนินการไปตั้งแต่ปลายปี 2565 และได้ประกาศให้กลุ่ม ช.การข่าง CK ที่ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะแบบ "ม้วนเดียวจบ" นั้น
บริษัทได้ยื่นเงื่อนไขทางการเงินที่ขอสนับสนุนทางการเงินจากรัฐสุทธิ 78,288 ล้านบาท โดยมีมูลค่าก่อสร้างระบบงานโยธา Civil Work ประมาณ 91,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักค่าสัมปทานที่ทางกลุ่มจะจ่ายให้รัฐคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน NPV ประมาณ 20,000 ล้านบาท จึงทำให้กลุ่ม CK-BEM เสนอเงื่อนไขทางการเงินสุทธิ 78,288 ล้านบาท (ไม่ต้องเปรียบเทียบกับข้อเสนอของกลุ่ม BSR- BTS ที่ยื่นเอาไว้แค่ 9,635ล้านบาท)
คำถาม คือ วงเงินอุดหนุนการก่อสร้างที่ทางกลุ่มเสนอต่อรัฐสุทธิ 78,288 ล้านบาท โดยมีค่าก่อสร้างระบบงานโยธาอยู่ที่ 91,000ล้านบาท แต่เอาเข้าจริงกลับทำสัญญาจ้างบริษัทร่วมร่วมทุนกับพันธมิตรซิโน-ไทย วงเงินแค่ 59,950 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนต่างที่เหลืออีกกว่า 30,000 ล้าน อันตรธานไปไหนกันหรือ?
อย่าอ้างว่าเป็นค้างานระบบรถไฟฟ้า หรือค่าจ้างแรงงาน ดอกเบี้ย หรือการอื่น เพราะวงเงินสนับสนุนของรัฐตามมติ ครม. นั่นกำหนดกรอบไว้ขัดเจน คือ ระบบงานโยธาทั้งหมด โดยจ่ายให้เลยตามมูลค่าปัจจุบัน
ทำให้อดคิดไม่ว่า ที่ "เฮียชูวิทย์" เคยดับเครื่องชนก่อนหน้านี้ว่า โครงการนี้มีเดิมพันเงินสะพัดถึง 30,000 ล้านบาท จะเป็นเรื่องจริง!
ใครรู้ช่วยบอกที เหตุใดวงเงินค่าก่อสร้างระบบงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ทั้งกลุ่มบริษัทรับเหมายักษ์ของเมืองไทยประมูลได้ไปภายใต้วงเงินที่บริษัทเสนอกว่า 91,000 ล้านบาทนั้น
เอาเข้าจริง ผู้รับเหมาที่ชนะประมูลกลับมาจ้าง หรือ "ซับงาน" ให้บริษัทลูกที่ร่วมกับพันธมิตรไปแค่ 59,950 ล้านบาทเท่านั้น
เม็ดเงินภาษีประชาชนที่เป็น "ส่วนต่างที่เหลือ" ไปไหน?