จากงานสัมมนา “Digital Nation: Making it Happen” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเชิญกูรู ผู้บริหารชั้นนำทั้งจากภาครัฐ เอกชน ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม แลกเปลี่ยนมุมมอง และวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 แนะภาครัฐ เร่งลงทุนพัฒนาระบบคลาวด์กลาง หรือ Cloud Center เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation) ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยที่มีอยู่ 3.2 ล้านราย ที่ไม่มีทุนมากพอที่จะพัฒนาและเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ธุรกิจดิจิทัล ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน
นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวถึงผลการวิจัยเรื่อง Digital Maturity in Thailand 2023-2024 พบว่า ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อมของไทยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ ที่มีรายได้ตั้งแต่ 50 ล้านบาทต่อปี ขึ้นไป ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กหรือ Micro Business ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI น้อย มีปัญหาทั้งเรื่องของการเข้าถึงและบุคลากรที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
“ภาคธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI สูงสุดคือ กลุ่มธุรกิจการเงินและประกัน ตามมาด้วยธุรกิจด้านไอที และ ภาคการขนส่ง ในขณะธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI น้อยที่สุดคือ ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก โดยเฉพาะร้านประเภทโชห่วย และภาคการผลิตขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้เนื่องจากธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก เป็นธุรกิจที่ต้องเข้าถึงผู้ซื้อจำนวนมาก การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามาใช้จะช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิต เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน ทำให้มีกำไรมากขึ้น” นายมีธรรม กล่าว
“การนำเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและการตลาด มีต้นทุนในการปรับปรุงและเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่สูง เป็นปัญหาที่ภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ไม่สามารถที่จะลงทุนได้จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรจะเข้ามาสนับสนุน เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจ และแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยจากอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จากผลการศึกษาของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า การจะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ การที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็น Digital Nation ต้องมีการพัฒนา Cloud Service ให้มีประสิทธิภาพ Cloud เป็นระบบที่ช่วยพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เมื่อนำระบบ Cloud มาใช้จะทำให้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในด้านของการเข้าถึงเทคโนโลยีดีขึ้นในต้นทุนที่ถูกกว่าเทคโนโลยีอื่น” นายมีธรรม อธิบายเพิ่มเติม
เช่นเดียวกับการเปิดเผยถึงผลการศึกษาของ Boston Consulting Group (BCG) นายเบนยามิน ฟิงเกอร์เล (Benjamin Fingerle) กรรมการผู้จัดการและพาร์ทเนอร์ BCG ระบุว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยี AI ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ภาคธุรกิจของไทยกว่า 300 บริษัท มีพัฒนาการในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI จากขั้นเริ่มต้น (Starter) ไปสู่ขั้นการใช้งานแบบผู้เชี่ยวชาญ (Performer) อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะเป็นพัฒนาการของภาคธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งมีเงินทุนมากพอสำหรับการลงทุนพัฒนาและวางระบบ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของไทยยังไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการผลิตและการตลาดเข้าสู่ระบบดิจิทัลและ AI ได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินทุน”
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของไทย ที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจดิจิทัลและ AI ได้ เป็นผลมาจากหลายบริษัทมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน รายได้ของธุรกิจยังติดลบ และบางแห่งที่มีกำไรก็ไม่เพียงพอสำหรับการลงทุน
“จากการสำรวจของศูนย์วิจัย พบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก รู้ว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจสู่ดิจิทัลมีประโยชน์ แต่ยังไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพราะมีปัญหาเรื่องเงินทุน ต้องใช้เวลา 2-5 ปีในการปรับเปลี่ยน จากผลการสำรวจพบว่า 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและใช้ดิจิทัลและ AI ภายใน 2 ปี และอีก 30% พร้อมใช้ใน 3-5 ปี ปัญหาใหญ่ที่กังวลสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก คือ เรื่องของเงินทุน แต่ถ้ารัฐบาลมีเทคโนโลยีกลาง หรือ Cloud Center ให้ เขาก็พร้อมที่จะเข้าไปใช้งาน” ดร. ฐิติมา กล่าว
นอกจากนี้ นางสาวปาจรีย์ แสงคำ หัวหน้าส่วนเทคโนโลยีดิจิทัล (Head of Digital Technology) บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ถ้ารัฐบาลสามารถลงทุนระบบ Cloud Center ให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็กมาใช้บริการได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กลดต้นทุนในการดำเนินงาน และเพิ่มรายได้ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และนำพาประเทศไปสู่การเป็น Digital Nation ได้ อย่าง โอสถสภาฯ เรามีเงินทุน ที่มาลงทุนพัฒนาระบบ ซึ่งช่วยให้เราบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มรายได้ได้ แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก มีเงินทุนไม่เพียงพอ ถ้าเราปล่อยให้เขาพัฒนาเอง ต้องใช้เวลานานมาก ส่วนตัวมองว่าถ้ารัฐเข้ามาพัฒนาระบบ Cloud Center ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก จะทำให้พวกเขาสามารถลดต้นทุนจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) สามารถก้าวกระโดดเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วขึ้น และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Digital Nation”
นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่คว่ำหวอดในด้านธุรกิจ Digital Solution Provider ก็ยอมรับว่า การที่เราจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และ Digital Nation ได้ จำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในระบบเพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ระบบได้ ธุรกิจต้องมีทุนเพียงพอ จากนั้นถึงจะพัฒนาและลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี สำหรับธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อาจไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กแล้ว รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้
“นอกจากการลงทุนในเรื่องของระบบ Cloud Center แล้ว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร จากผลการศึกษาล่าสุด พบว่า บุคลากรด้านดิจิทัลของไทยในระดับที่ทำงานได้ระดับ 3-4 มีเพียง 1% ของทั้งประเทศ คือ ประมาณแสนกว่าคน น้อยกว่าสิงคโปร์ และมาเลเซีย ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรและต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในด้านนี้ให้เพิ่มขึ้น” นายปนายุ กล่าว
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยในส่วนของภาครัฐ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบ Could Center ว่า “ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการพัฒนาระบบ Cloud สำหรับการทำงานของรัฐบาลที่ให้บริการประชาชนอยู่ เพื่อจะช่วยประหยัดงบประมาณในการประมวลผลพื้นฐานได้ 30-50% ในส่วนของการพัฒนาระบบ Cloud Center เพื่อธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีการดำเนินการหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามระบบ Cloud ของรัฐบาลที่มีพัฒนาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและมีเป้าหมายสู่การเป็น Digital Nation และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันและการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ดี ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งสิ้น 3.2 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็น 99.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด มีการจ้างงานมากถึง 12.8 ล้านคน สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDPs)