สะพัด "เจ้าสัว" ถอดใจทิ้งไพ่ตายให้รัฐบาลชี้ขาด
จับตาฟางเส้นสุดท้ายต้องจบ มิ.ย.นี้!
…
แม้รัฐบาล "มาดามแพ" ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะออกมาตีปี๊บผลงานความสำเร็จของการบริหารประเทศมาครบ 90 วัน
โดยชูธงผลงานการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจคนละ 10,000 บาท ผ่านแอปเป๋าตังในเฟสแรก 14.5 ล้านคน ที่ดำเนินการไปแล้ว และเตรียมโม่แป้งโครงการ เฟส 2 เก็บตกแจกเงินผู้สูงอายุอีก 4.5 ล้านคน
การปรับลดราคาพลังงาน ตรึงราคาน้ำมัน-ก๊าซ และโดยเฉพาะล่าสุดปรับลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนคนไทย
แต่ผลงานที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งนโยบาย "เรือธง" ของรัฐบาลในการปรับลดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ที่แม้รัฐบาลจะดีเดย์ไปตั้งแต่สมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปถึงปลายปี 2568 แต่ก็จำกัดอยู่แค่ 2 สายทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงเหนือของ รฟม. เท่านั้น
เส้นทางที่เหลือยังต้องไปลุ้น จะได้เห็นเป็นรูปธรรมหรือไม่ในเดือนกันยายนปี 2568 ตามที่กระทรวงคมนาคมป่าวประกาศเอาไว้ก่อนหน้า เพราะความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับกระทรวงคมนาคมจะสามารถขับเคลื่อนนโยบาย "กองทุนตั๋วร่วม" ที่จะมาอุดหนุนและชดเชยโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ โดยตรง
ส่วนผลงานที่ผู้คนสัมผัสได้จริงๆ กลับเป็นมหันตภัยจากการก่อสร้างถนน "เจ็ดชั่วโคตร" พระราม 2 ที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก ล่าสุดก็คานเหล็กก่อสร้างพังครืนลงมาทับแรงงานก่อสร้าง (อีกแล้ว) ทั้งที่กระทรวงคมนาคมเคยประกาศิตคาดโทษผู้รับเหมาจะไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก มิฉะนั้นจะขึ้นบัญชีดำไม่ให้เข้าประมูลงานรัฐ หรือลดชั้นผู้รับเหมาในการประมูลงานรัฐให้รู้ดำรู้แดง
ที่ไหนได้หลังเกิดเหตุสลดขึ้นมา รมต.คมนาคม กลับออกมายอมรับหน้าชื่นว่า ไม่สามารถจะขึ้นดำรับเหมาที่เป็นต้นเหตุโศกนาฏกรรมที่ว่านี้ได้ เพราะกรมบัญชีกลางยังไม่ได้จัดทำร่างประกาศขึ้นบัญชีดำรับเหมาตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
หมายความว่า จากนี้ไปประชาชนคนไทยที่ต้องสัญจรผ่านถนนเจ็ดชั่วโคตรสายนี้ ยังคงต้องอกสั่นขวัญแขวนลุ้นให้ตัวเองแคล้วคลาดจากภัยอันตรายจากการก่อสร้างถนนเจ็ดชั่วโคตรสายนี้กันต่อไป
2 โปรเจกต์ยักษ์ EEC รถไฟความเร็วสูง-เมืองสนามบิน 5 แสนล้าน "ยืนบนเส้นด้าย"..
ในห้วงเวลาไม่ถึง 6 เดือนจากนี้ มีประเด็น "เผือกร้อน" ที่รัฐบาล "มาดามแพ" จะต้องผ่าทางตันให้ได้ นั่นก็คือ การชี้ชะตา 2 โครงการเมกะโปรเจ็กต์ยักษ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ "อีอีซี" นั่นคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้าน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก วงเงินลงทุนกว่า 290,000 ล้านบาท
หลังจาก 2 โครงการดังกล่าวต้องประสบปัญหาความล่าช้า ยิ่งในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กล่าวได้ว่ากว่า 5 ปีมาแล้ว นับจากที่รัฐบาลและการรถไฟฯ (รฟท.) ลงนามให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน คือ บริษัท เอเซียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุน ซีพี. เมื่อ 24 ต.ค.2562 และจะต้องเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้กว่า 3 ปีเข้าไปแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า บริษัทเอกชนยังไม่เปิดหวูดตอกเสาเข็มเดินหน้าโครงการไปแม้แต่น้อย
ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้าย "สิ้นสุดทางเลื่อน" ที่รัฐต้องตัดสินใจในเดือน มิ.ย. 2568 นี้ เพราะในสัญญากำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ (กองทัพเรือ และ สกพอ.) ต้องออกหนังสือ Notice to Proceed : NTP ให้คู่สัญญาเอกชน คือ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เริ่มต้นก่อสร้างโครงการภายใน 5 ปี หาไม่แล้วเอกชนสามารถบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่ถือเป็นความผิด
แต่การที่รัฐจะออก NTP ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ ก็ต้องชัวร์ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จ-ล้มเหลวโครงการเมืองการบินตะวันออก ยังคงเดินหน้าก่อสร้างตามแผนงานอยู่ หากโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ยังคงล่าช้าหรือต้องมีอันเป็นไป ย่อมส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกโดยตรง !
#ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน วุ่นไม่จบ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเดินทางไปติดตามความคืบหน้าปัญหาการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจอีอีซี โดยเฉพาะ 2 โครงการแม่เหล็กรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเมืองการบินตะวันออก โดยได้รับรายงานจากเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (นายจุฬา สุขมานพ) ว่า ทุกอย่างจะมีความชัดเจนภายในเดือน ก.ค. 2567
โดยในส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ รฟท. และ กพอ. ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน คือ บริษัทเอเซียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุนซีพี. ไปตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งตามไทม์ไลน์นั้นจะต้องเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 64 แต่จนถึงขณะนี้ บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานกลับไม่สามารถเปิดหวูดเริ่มต้นก่อสร้างได้
โดยที่ผ่านมา ทางเอกชนได้ทำหนังสือชี้แจงถึงเหตุผลที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยอ้างเหตุผล 2 ข้อ คือ ผลกระทบจากโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สมมติฐานในการดำเนินโครงการเปลี่ยนแปลงไป ท้ายที่สุด สถาบันทางการเงินที่ขอกู้ไว้ ไม่อนุมัติเงินกู้ให้ ทำให้ อีอีซี และ รฟท. ต้องใช้หลักการเจรจากับเอกชนตามหลักการร่วมลงทุนแบบ PPP เพื่อประคองให้โครงการไปต่อได้
โดยเอกชนได้ร้องขอให้มีการแก้ไขสัญญามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขอผ่อนปรนจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จำนวน 10,671 ล้านบาท และยังขอให้รัฐปรับร่นการจ่ายเงินสนับสนุนโครงการหรือเงินร่วมลงทุนตามมติ ครม. จากเงื่อนไขประกวดราคาและตามสัญญาที่รัฐจะทยอยจ่ายเงินอุดหนุน จำนวน 119,000 ล้านบาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จเปิดให้บริการแล้ว (ในปีที่ 6 ของสัญญา) เป็นระยะเวลา 10 ปีมาเป็นการ "สร้างไป-จ่ายไป" นับตั้งแต่ปีที่ 2 ของการก่อสร้าง วงเงินรวมดอกเบี้ยราว 120,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการการันตีว่าเอกชนรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐไปแล้วจะยังคงดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อเนื่อง โดยจะทยอยจ่ายภายใน 4 ปี เฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังปรับแก้ไขให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินโครงการส่วนที่สร้างเสร็จแล้ว จากสัญญาเดิมที่รัฐจะนำทรัพย์สินที่เอกชนสร้างมาใช้ได้ต้องโอนก่อน
แนวทางดังกล่าวคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบไปตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนส่งร่างสัญญาฉบับแก้ไขไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ โดยคาดว่า กระบวนการนี้จะจบลงภายในปี 2567 นี้ เพื่อให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการได้ในต้นปี 2568
แต่จนถึงขณะนี้สำนักงาน สกพอ. ยังไม่สามารถนำมติบอร์ดอีอีซีที่เห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการนี้กันจนปรุ จนแทบไม่หลงเหลือเค้าลางโครงการเดิมเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบได้ หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตจากสำนักงานตรวจการแผ่นดิน ถึงแนวทางการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการนี้ที่ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน ทำให้รัฐเสียประโยชน์และน่าจะขัดกับหลักกการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)
กพอ. มีอำนาจพิจารณาแก้ไขสัญญาสัมปทานได้โดยตรงหรือไม่ กระบวนการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการนี้ต้อง กลับไปให้การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ที่เป็นคู่สัญญาดำเนินการภายใต้กรอบ พ.ร.บ.การร่วมลงทุน ปี 2562 หรือไม่?
#สะพัด "เจ้าสัว" ถอดใจ โยนเผือกร้อน รัฐบาลชี้ชะตา ขีดเส้น มิ.ย.ปีหน้า!
ล่าสุด มีรายงานสะพัดว่า มีแนวโน้มที่บริษัทเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะ "ถอดใจ" โครงการนี้ไปแล้ว หลังจากไม่สามารถระดมทุนจัดหาซัพพลายเออร์เครดิตได้ เพียงแต่ยังหาทางลงให้กับตัวเองไม่ได้ เพราะไม่ต้องการถูกขึ้น "บัญชีดำ" ว่าเป็นผู้ทิ้งงานรัฐ
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึง "ทิ้งไพ่ตาย" ด้วยการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานให้รัฐเป็นผู้ลงทุนโครงการเองทั้งหมด ส่วนเอกชนจะรับสัมปทานเดินรถและพัฒนาที่ดินเช่นเดิม
"เป็นการโยนเผือกร้อนไปให้รัฐบาลตัดสินใจเองว่า จะให้การโอบอุ้มข้อเสนอของเอกชนรายนี้หรือไม่ และจะต้องเร่งตัดสินใจภายใน 1-2 เดือนจากนี้ด้วย เนื่องจากโครงการนี้เกี่ยวพันไปถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก ที่ยังคงรอคอยคำตอบจากรัฐว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ที่เป็นปัจจัยชี้ขาดผลสำเร็จ-ล้มเหลวของเมืองการบินตะวันออกนั้นจะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่"
โดยเฉพาะเรื่องของสถานีรถไฟความเร็วสูงในสนามบินอู่ตะเภาที่คาราคาซังมานาน และยังไม่สามารถกำหนดรูปแบบที่แน่ชัดลงไปได้ ทำให้รัฐไม่สามารถจะออก NTP ให้ผู้รับสัมปทานเริ่มต้นก่อสร้างได้ หากท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ หรือซื้อเวลาต่อไป บริษัทย่อมอ้างได้ว่า ไม่ได้เป็นความผิดของบริษัท แต่เป็นความผิดของรัฐเองที่ไม่ตัดสินใจเรื่องนี้
แต่ปัญหาที่จะเกิดตามมา หากโครงการนี้ต้องล้มเลิกไป ก็คือ ในส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่เอกชนรับโครงการไปบริหารตั้งแต่ปลายปี 2564 โดยที่ยังไม่ได้จ่ายค่าสิทธิรับโอน รวมทั้งยังไม่ได้จ่ายค่าซ่อมบำรุงให้บรรดาซัพพลายเออร์ทั้งหมด อ้างเหตุผลที่ว่า รายได้ที่บริษัทได้รับไม่เพียงพอค่าใช้จ่ายในการเดินรถและบำรุงรักษา ทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระแทนการรถไฟมาโดยตลอดนั้น
หากมีการยกเลิกสัญญา ก็คงจะมีการฟ้องร้องอิรุงตุงนังตามมาอย่างแน่นอน
ที่สำคัญ หากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ ต้องถูกยกเลิกหรือล้มไป ย่อมกระทบไปถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกอย่างแน่นอน ทั้งยังจะกระทบไปถึงภาพรวมการลงทุนในอีอีซีทั้งหมด เพราะ 2 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการแม่เหล็กสำคัญที่มีมูลค่าลงทุนรวมมากกว่า 5 แสนล้านบาทด้วย!!!