มสส. และ สสส. เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทย ปี 67 พบทำงานหนักพักผ่อนน้อย มีความเครียดสูง โรคประจำตัวมากขึ้น แต่ยังมีข่าวดีดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลดลง สว.สายสื่อเสนอแก้ปัญหา 4 ส. คือ เสรีภาพ สวัสดิภาพ สวัสดิการ และสหภาพแรงงาน ส่วนนักวิชาการห่วงอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “ความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2567” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสุขภาวะของสื่อมวลชนในรอบปี 67 ที่ผ่านมา
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวถึงภาพรวมของสื่อมวลชนไทยในปี 2567 เต็มไปด้วยความยากลำบาก แค่ 6 เดือนแรกของปี (มกราคม-มิถุนายน 67) มีธุรกิจสื่อปลดออกพนักงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คน เช่น Voice TV เลิกจ้างพนักงาน 200 คน PPTV เลิกจ้าง 90 คน ส่วนครึ่งปีหลังล่าสุดสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เพิ่งเลิกจ้างพนักงานไปกว่า 300 คน แม้จะมีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่ในอนาคตก็ยังยากลำบาก ส่วนคนที่ยังอยู่ก็มีความไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้สปอนเซอร์น้อยลงทุกสื่อ ต้องแย่งเม็ดเงินโฆษณากัน
นอกจากนั้น ในอนาคตอันใกล้ภาวะฟองสบู่ของวงการสื่อออนไลน์กำลังจะแตก เพราะปริมาณมากเกินจนล้นตลาด สื่อที่ยังอยู่ก็ปรับลดขนาดองค์กร ทำให้คนทำงานสื่อต้องทำงานหนักขึ้น ค่าล่วงเวลาไม่ได้ เบี้ยเลี้ยงไม่มี วันหยุดก็น้อยลง จนเกิดความเครียดแทบไม่มีเวลาพักผ่อน
"สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก จึงหวังว่าผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทยปี 2567 ที่มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ โดยการสนับสนุนของ สสส. จะนำมาเป็นข้อมูลร่วมกันแสวงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพของสื่อมวลชนต่อไป"
รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานการณ์ ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2567 โดยมีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างครอบคลุม ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 372 คน
คำถามแรกสื่อมวลชนทำงานหนักมากน้อยแค่ไหน พบว่า ส่วนใหญ่ 44.09% ทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่จำนวน 19.35% ไม่มีความแน่นอนในชั่วโมงทำงาน ขณะที่ 13.98% ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวัน และที่มากกว่านั้นมีสื่อมวลชน 8.60% ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน สรุปว่าเกินครึ่งทำงานหนักมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง
นอกจากนั้น ยังพบว่า ส่วนใหญ่ 41.94% ไม่มีวันหยุดที่แน่นอน 31.18% หยุด 2 วันต่อสัปดาห์ 10.75% หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ และ8.60 % ไม่มีวันหยุดเลย ส่วนเรื่องโรคประจำตัวส่วนใหญ่ 56.99% ไม่มีโรคประจำตัว 43.01% มีโรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำตัว เป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ในสัดส่วนที่พอๆ กัน คือ 24.14% โดยภาพรวม 77.58% เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
ส่วนการตรวจสุขภาพประจำปีส่วนใหญ่ 74.19% มีการตรวจสุขภาพประจำปี อีก 25.81% ไม่ได้ตรวจ ประเด็นสุดท้ายเรื่องปัญหาความเครียดจากการทำงาน พบว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ 41.13% มีความเครียดสูงกว่าปกติ รองลงมา 23.39% มีความเครียดปานกลาง และเครียดมาก 5.38% เมื่อดูโดยภาพรวมมีความเครียดสูงถึง 69.9%
ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 83.60% ไม่สูบบุหรี่ ส่วนอีก 16.40% ยังสูบบุหรี่อยู่ สำหรับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 96.77% ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพียง 3.23% เท่านั้นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 58.33% ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนอีก 41.67% ซื้อจากร้านค้าทั่วไป สำหรับสื่อมวลชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่นั้น 58.55% มีความเสี่ยงต่ำ 22.80% มีความเสี่ยงสูงหรือเสพติดแอลกอฮอล์แล้ว และ 18.65% เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ 57% ไม่คิดจะเลิก ส่วนอีก 43% คิดจะเลิกดื่ม
ประธาน มสส. กล่าวสรุปและวิเคราะห์ผลการสำรวจในปี 2567 ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการทำงาน และต้องทำงานหนักขึ้น วันหยุดต่อสัปดาห์ลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ สื่อมวลชนมีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น 16.01% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566
โรคประจำตัวที่เป็นกันมากที่สุด คือ เป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีปริมาณที่สูงขึ้น และยังพบว่า ส่วนใหญ่มีความเครียดจากการทำงานสูงมาก ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรสื่อควรให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหานี้โดยเร่งด่วน
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 18 สายสื่อสารมวลชน อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานสื่อมา สรุปได้ว่า มีประเด็นที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญ ขอเรียกว่า 4 ส. คือ เสรีภาพที่สื่อมวลชนไทยยังคงมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นหรือการนำเสนอข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวที่มีความอ่อนไหวเกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้มีความเสี่ยงถูกดำเนินคดีความมั่นคง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ส.ที่สอง คือ สวัสดิภาพของคนทำงานด้านสื่อสารมวลชน มีอยู่หลายครั้งนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา กลับถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานภาครัฐ ส.ที่ 3 คือ สวัสดิการในการทำงาน ในอดีตการจ้างงานของธุรกิจสื่อจะเป็นพนักงานประจำ มีสวัสดิการดูแล แต่ทุกวันนี้มีการแข่งขันสูง ทำให้ต้องลดต้นทุน ลดสวัสดิการลง จากพนักงานประจำเป็นการทำงานชั่วคราว ทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน
และ ส. สุดท้าย คือ สหภาพแรงงาน ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจสื่อจำนวนไม่มากนักที่มีสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรที่ลูกจ้างรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมา เพื่อปกป้องเรียกร้องสวัสดิการและสวัสดิภาพต่อนายจ้าง ดังนั้น นายจ้างไม่ควรขัดขวางและควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในธุรกิจสื่อมวลชน
ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่า ธุรกิจสื่อ วัฒนธรรมและกราฟฟิก เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนรูปของรูปแบบธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ การแสดง และสื่อสิ่งพิมพ์
รวมทั้งมีประเด็นที่น่ากังวลในอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ ขาดการทำงานที่มีคุณค่า และการเข้าไม่ถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม ส่งผลให้ต้องมีการประเมินผลกระทบของการจ้างงานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สื่อสมัยใหม่และอาชีพในยุคสื่อสังคมแพลตฟอร์มออนไลน์จะต้องเผชิญ
นอกจากนี้ จะต้องมีการรับรองความชัดเจนสถานะของงานสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ เพราะจะมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนการทำงานของแรงงาน รวมทั้งมีช่องว่างของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ประเด็นสำคัญ คือ การสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับคนทำงานสื่อมวลชนรวมทั้งการเข้าไม่ถึงและไม่ครอบคลุมของระบบการคุ้มครองทางสังคม จึงของเรียกร้องให้เกิดระบบความร่วมมือแบบพหุภาคีของผู้แทนที่มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมสื่อให้มากขึ้น
ด้านสื่อมวลชนร่วมเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า ปัจจุบันมีสื่อมวลชนที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของสื่อได้หันมาทำสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่สื่อเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ จึงอยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อได้เข้ามาดูแลปัญหาเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะมีสื่อโทรทัศน์ที่ทำงานตั้งแต่ตีหนึ่งถึงเช้าเพื่อเตรียมรายการข่าวเช้าของแต่ละสถานีเชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 100 คน ที่มีปัญหาสุขภาพ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสมาคมวิชาชีพสื่อ ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมกับเสนอให้สื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จ ได้หันกลับมาดูแลนักข่าวและคนทำสื่อที่ประสบความเดือดร้อนที่มีปัญหาสุขภาพด้วย โดยอาจจะมีการตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้