สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงติดตามผลการดำเนินงาน โครงการ OUR Khung BangKachao ปี 2561 - 2566 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา ในนามประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานโครงการฯ พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เปิดเผยว่า โครงการ OUR Khung BangKachao ตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดย มูลนิธิชัยพัฒนา น้อมรับพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าสมควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้เป็นพื้นที่สีเขียว และคงความเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ จึงทำหน้าที่เป็นแกนหลักระดมความร่วมมือจากหลายภาคส่วนรวม 113 องค์กร ในรูปแบบสานพลังความร่วมมือเพื่อพัฒนาสังคม “Social Collaboration with Collective Impact” ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ มุ่งเน้นการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว การจัดการน้ำ การจัดการขยะ การส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาเยาวชน การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวนอกจากนำมาจัดทำโครงการให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังสามารถนำมาสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง กล่าวว่า ปตท. ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว พร้อมผสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 34 องค์กร และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานภายใต้เป้าหมายคือ การรักษาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้า 6,000 ไร่ การเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นที่สีเขียว และส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ซึ่งความก้าวหน้าเป็นไปตามเป้าหมาย มีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 80,000 ต้น มีการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านกระบวนการจ้างงานในท้องถิ่นและการจัดหากล้าไม้ของชุมชน อีกทั้งได้ร่วมกับ บริษัท AI And Robotics Venture (ARV) และกรมพัฒนาที่ดิน ติดตามประเมินผลการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ด้วยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและการบินโดรนสำรวจ รวมถึงภาพถ่ายระยะไกลจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่าปัจจุบันมีจำนวนพื้นที่สีเขียวในคุ้งบางกะเจ้าเพิ่มขึ้น 30 % อยู่ที่ 6,148 ไร่ จากเมื่อปี 2562 มีจำนวนเพียง 4,705 ไร่ นับว่าบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้สร้างเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ คนรักคุ้งบางกะเจ้าและเยาวชนรุ่นใหม่ นับเป็นความหวังในการช่วยดูแลพื้นที่สีเขียวให้คงอยู่ยั่งยืนต่อไป
นายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง กล่าวว่า คณะทำงานมุ่งเน้นเชื่อมโยงการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ให้บริหารจัดการน้ำได้อย่างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนา สามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งสร้าง “พื้นที่แบบอย่างความสำเร็จ” ที่พร้อมจะเป็นต้นแบบขยายผลในการสำรองน้ำจืดและจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อการเกษตร โดยน้อมนำแนวทางจัดการน้ำชุมชนชน ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ สร้างความมั่นคงด้านน้ำ สร้างรายได้จากการเกษตร ชุมชนมีระบบฐานข้อมูลและองค์ความรู้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เกิดเครือข่ายจัดการน้ำชุมชนที่เข้มแข็ง และเกิดศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินในคุ้งบางกะเจ้า
นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการจัดการขยะ กล่าวถึงการกำหนดเป้าหมายในการลดปัญหาขยะในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ใช้แนวทาง Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงาน มุ่งเน้นให้เกิดการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากขยะเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะ 100 % และการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้มากกว่า 50 % ตลอดจนส่งเสริมให้เกิด Social Enterprise ด้านการจัดการขยะในพื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการขยะเพื่อขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการขยะชุมชน และสร้างจิตสำนึกการจัดการปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง
นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ที่ปรึกษา บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพ กล่าวว่า คณะทำงานฯ จากทุกองค์กร ได้ร่วมมือกับชุมชนคุ้งบางกะเจ้าในรูปแบบ Social Collaboration หรือสานพลังความร่วมมือ ผ่านความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วน ทำให้เกิดโมเดลการพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์เกษตร สำรับช่างคาวช่างหวานอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ผลิตภัณฑ์ Upcycling สู่การรับรองมาตรฐานระดับประเทศและสากล รวมถึงการสร้างช่องทางการตลาดสีเขียว (Green Marketplace) ในคุ้งบางกะเจ้า และจัดจำหน่ายสู่ Modern trade ต่อไป
นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การบริหารจัดการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า มี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ระดับตำบล ระดับภาคีเครือข่าย ระดับนโยบาย ซึ่งความสำเร็จเห็นได้จากการที่ทำให้ชุมชนผ่านมาตรฐานและรับรางวัลในระดับประเทศและนานาชาติ เป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ และบริการ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการตลาดท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยนับตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ทั้ง 6 ตำบลในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชนมากถึง 7,102,843 บาท พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำตามมาตรฐานสากล
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะทำงานการพัฒนาเยาวชน การศึกษา และวัฒนธรรม กล่าวถึงการพัฒนาว่าในระยะเวลาการดำเนินงานได้เกิดการจัดการความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชื่อมโยงปราชญ์ชาวบ้านกับเยาวชน โดยผสานความร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ทั้ง 11 แห่ง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยกลยุทธ์การพัฒนา 4 ทักษะสำคัญ ได้แก่ “ทักษะชีวิต” เพื่อเพิ่มทักษะให้เยาวชน สามารถเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ทักษะอาชีพ” เพื่อเพิ่มทักษะให้เยาวชน มีความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในการทำมาค้าขาย ประกอบสัมมาอาชีพ โดยใช้จุดเด่นของชุมชนมาปรับให้เป็นรูปแบบของอาชีพและสินค้า “ทักษะการเป็นคนดีมีคุณธรรม” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ประพฤติอยู่ในวิถีของความเป็น คนดี ตามหลักพุทธศาสนา ตามจารีตของสังคมไทยอันดีงาม “ทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียน” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้นอกตำรา เปิดกรอบแนวความคิดนอกห้องเรียน เช่น การทัศนศึกษางาน Sustainability Expo เพื่อเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง การรักษาสิ่งแวดล้อม และรักษ์โลกอย่างยั่งยืน การเยี่ยมชมงานศิลปะ Bangkok Art Biennale และงานประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่เป็นของชุมชนคุ้งบางกะเจ้า เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้คุณค่าของงานศิลปะ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นการยกระดับทางการศึกษา พัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพให้กับเยาวชน ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ ได้นำองค์ความรู้ทั้งด้านภูมิสังคมและอัตลักษณ์ของชุมชนคุ้งบางกะเจ้า มาพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน
โครงการ OUR Khung BangKachao ยังมีงานพัฒนากลไกสภาชุมชนโครงการฯ สู่เครือข่ายคนรักคุ้งบางกะเจ้า เพื่อพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งและยั่งยืน ผ่านการอบรม ศึกษาดูงาน และการจัดทำโครงการชุมชน อีกทั้งยังเสริมสร้างการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management: KM) รวบรวมองค์ความรู้ในโครงการฯ จัดทำเป็นรูปแบบหนังสือเผยแพร่ และงานพัฒนาจุดเรียนรู้ และการสร้างการมีส่วนร่วมของ PTT Group มีการพัฒนาจุดเรียนรู้ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า 6 ตำบล 7 แห่ง เป็นศูนย์กลางเผยแพร่การดำเนินโครงการฯ พัฒนาสวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ภายใต้ความร่วมมือของ ปตท. กับ กรมป่าไม้ ประสานความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. เพื่อเป็นพื้นที่สร้างการรับรู้เรื่องการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้าต่อไป
อนึ่ง คุ้งบางกะเจ้า เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้เมือง ล้อมรอบด้วยลำน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ได้แก่ ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกอบัว ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ และตำบลทรงคนอง โดยมีความสำคัญทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการสะสมของตะกอนปากแม่น้ำทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ส่งผลให้สังคมพืชและสัตว์มีความหลากหลาย มีลักษณะเฉพาะตัว
การพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าครอบคลุมทุกมิติ จึงเป็นการสร้างสมดุลอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างของการจัดการพื้นที่สีเขียวภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่อย่างแท้จริง