ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า น่าดีใจที่มีการเปิดรถไฟฟ้ามาเป็นระยะๆ ทำให้กรุงเทพฯ มีความยาวของรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่ทำไมรถยังติด?
วันนี้ (16 ธ.ค.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดการใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือเพิ่มเติมอีก 7 สถานี จากสถานีพหลโยธิน 59 ถึงสถานีคูคต และรถไฟฟ้าสายสีทองซึ่งเป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) วิ่งลอยฟ้าบนถนนกรุงธนบุรีและถนนเจริญนคร เพื่อขนผู้โดยสารมาป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี
ถึงวันนี้ (16 ธ.ค.63) กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วรวมเป็นระยะทาง 168 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมดในแผนแม่บทรถไฟฟ้าประมาณ 560 กิโลเมตร สายทางที่เปิดให้บริการแล้วมีดังนี้
1. สายสีเขียว ระยะทาง 66.7 กม. จำนวนสถานี 59 สถานี
2. สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 48 กม. จำนวนสถานี 40 สถานี
3. แอร์พอร์ตลิงก์ ระยะทาง 28.5 กม. จำนวนสถานี 8 สถานี
4. สายสีม่วง ระยะทาง 23 กม. จำนวนสถานี 16 สถานี
5. สายสีทอง ระยะทาง 1.8 กม. จำนวนสถานี 3 สถานี
รวมระยะทาง 168 กม. รวมสถานี 126 สถานี
จากระยะทางที่เปิดใช้แล้วทั้งหมด 168 กม. เป็นระยะทางที่เปิดใช้ก่อนสมัยท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ 87 กม. และในสมัยท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ 81 กม. คิดเป็นระยะทางที่เพิ่มขึ้นในสมัยท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ 93% ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบรางของท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ รวมทั้งรัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมาที่ได้ทำการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ เวนคืนที่ดิน และเริ่มก่อสร้างบางสาย
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่วิกฤตจราจรก็ยังอยู่ควบคู่กรุงเทพฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของรถไฟฟ้า คนกรุงเทพฯ ยังคงนิยมใช้รถส่วนตัว และมีจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องใช้รถเมล์ ทำให้ท้องถนนยังเต็มไปด้วยรถรา ส่งผลให้รถติด อากาศเป็นพิษ และสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิง
สาเหตุที่มีผู้ใช้รถไฟฟ้าน้อย มีดังนี้
1. ค่าโดยสารแพง
การทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เป้าหมายของภาคเอกชนในการร่วมลงทุนก็คือทำกำไร
2. ขาดระบบเชื่อมต่อที่ดี
ระบบเชื่อมต่อหรือระบบขนส่งเสริม (Feeder Transport) มีบทบาทสำคัญในการจูงใจให้มีผู้มาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้การเดินทางเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้ามีความสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรถเมล์ซึ่งเป็นระบบขนส่งเสริมที่สำคัญ ทั้งเรื่องเส้นทางและตัวรถที่ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม ให้มีเส้นทางที่สอดรับกับเส้นทางรถไฟฟ้า และมีตัวรถที่ใหม่สะอาดสะอ้านน่าใช้บริการ เราจะต้องไม่ลืมว่า “ไม่มีเมืองใดในโลกที่สามารถใช้รถไฟฟ้าให้ได้ผล ถ้าไม่มีรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพมารองรับ รถเมล์และรถไฟฟ้าต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน”
3. ที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้า
การไม่มีที่จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานี และ/หรืออาคารจอดรถที่เรียกกันว่า “อาคารจอดแล้วจร” ใกล้กับสถานี เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีผู้ใช้รถไฟฟ้าน้อย ดังนั้น ในขั้นตอนการศึกษาและออกแบบ ผู้รับผิดชอบจะละทิ้งปัจจัยนี้ไม่ได้
ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี ต้องการร่วมผลักดันให้กรุงเทพฯ ที่รักของเราเป็นมหานครแห่งระบบรางชั้นนำของโลก