ไม่รู้ป่านนี้นักวิชาการขาประจำจะตีอกชกลมเป็นอกอีแป้นแตกตายไปรึยัง!
หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคาะหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) สำหรับรองรับการวางโครงข่าย 5จี เอาไว้แค่ 17,584 ล้านบาทต่อการจัดสรรคลื่นขนาด 10 MHz จากเดิม 25,000 ล้านบาท/15 MHz โดยจะให้เอกชนเข้ามารับเซ็งลี้คลื่นที่ว่าวันที่ 19 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวหลังบอร์ด กสทช. อนุมัติหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่นดังกล่าวว่า ราคาที่กำหนดดังกล่าวถือว่าเหมาะสมแล้ว คงจะไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ อีก หลังจากนี้ กสทช. จะรับฟังความเห็นสาธารณะในวันที่ 22 พ.ค. 62 ก่อนนำกลับมาเสนอบอร์ด กสทช. และประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกำหนดให้ผู้ประกอบการมือถือเข้ามายื่นแสดงความจำนงรับคลื่นดังกล่าวในวันที่ 19 มิ.ย.นี้
สำหรับคลื่นความถี่ 700 MHz ที่เหลืออีก 15 เมกะเฮิร์ตซ์นั้น กสทช. จะแบ่งเป็น 3 ใบๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเบื้องต้นไว้ 8,792 ล้านบาท กำหนดจัดสรรให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ (จำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์) และคลื่น 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ จะทำการประมูลแบบมัลติแบนด์ (ประมูลพร้อมกันไปทั้ง 2 คลื่น) ในช่วงปลายปี 2562 คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 700 เมกกะเฮิรตซ์ ที่เหลืออยู่น่าจะมีการประมูลในเดือนเมษายน 2563 ต่อไป ส่วนคลื่น 3,400-3,500 MHz เนื่องจากคลื่นยังมีการใช้งานอยู่จึงยังไม่มีการกำหนดจัดสรร
แม้นักวิชาการจะมองว่า การประเคนคลื่น 700 MHz ไปให้ค่ายสื่อสารในครั้งนี้ไม่ต่างจาก 3 ล้อถูกหวย แต่ในข้อเท็จจริงก็ยังต้องลุ้นกันอีกว่า ค่ายสื่อสารทั้ง 3 ค่ายจะเอาด้วยหรือไม่อีก
เพราะก่อนหน้าทั้งทรูมูฟ ดีแทค และเอไอเอส ต่างก็สงวนท่าทีในการที่จะรับเซ็งลี้คลื่นเจ้ากรรมที่ว่านี้ แม้ทุกค่ายจะเข้าไปแสดงเจตจำนงยืดจ่ายหนี้ประมูลคลื่น 900 MHz เดิมตามประกาศ กสทช. และคำสั่ง ม.44 แต่ทุกค่ายก็ขอดูเกณฑ์จัดสรรคลื่นและราคาตั้งต้นคลื่น 700 MHz ที่ว่านี้เสียก่อน
ล่าสุด วงการโทรคมนาคมวิเคราะห์กันว่า อาจเหลือเพียงค่ายทรูมูฟเพียงรายเดียวเท่านั้นเข้ารับการจัดสรรขึ้น 700 ในขณะที่เอไอเอสที่เป็นค่ายเดียวที่ไม่มีปัญหาด้านภาระทางการเงินนั้นอาจตัดสินใจ รอการประเมินคลื่น 700 ที่เหลือ 15 เมกะเฮิรตซ์ในปี 63 แทน
สำหรับ กสทช.นั้น แม้เลขาธิการ กสทช. จะแสดงความมั่นใจว่า ยังคงเชื่อว่าผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 ค่ายจะเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 ครบ เพราะก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการมือถือเป็นผู้ยื่นหนังสือ ต่อ คสช. เพื่อขอให้ออกมาตรการช่วยเหลือยื่นชำระค่าใบอนุญาตงวดสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900 เมื่อหัวหน้า คสช. ดำเนินการตอบสนองให้แล้ว เขาไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับ แต่ท้ายที่สุดเหลือผู้ประกอบการเพียง 1 หรือ 2 รายเข้ารับการจัดสรรคลื่น ก็เป็นสิทธิที่เอกชนเลือก กสทช. คงไปบังคับไม่ได้
แต่ กสทช. คงลุ้นระทึกต่อไป เพราะหากค่ายมือถือทั้ง 3 ค่ายไม่รับมุกเกณฑ์จัดสรรคลื่นที่ว่านี้ก็มีหวังงานเข้า เพราะจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการดิจิทัล 7 รายที่ยื่นความจำนงคืนใบอนุญาตก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับชดเชยค่าคลื่นกลับคืนไปไม่น้อยกว่า 3,100 ล้านบาท
เพราะหากทั้ง 3 ค่ายเล่นแง่ไม่ยอมรับหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่นในครั้งนี้ ที่ถือว่าเอื้ออาทรอย่างถึงที่สุดแล้วบรรดามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ปฏิบัติงานที่นัยว่าอาจจะต้องตกงานกว่า 2,000 คน ก็อาจชวดเงินเยียวยาที่สมน้ำสมเนื้อเอาได้
การกำหนดหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 MHz ดังกล่าว จึงถือเป็นการวัดใจครั้งสำคัญที่ต้องลุ้นระทึกกันในวันที่ 19 มิถุนายนนี้
จะว่าไปมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการดิจิทัล ตามประกาศ กสทช. และคำสั่ง ม.44 ที่ให้ไปก็สมน้ำสมเนื้อกันทุกฝ่าย เพราะแต่เดิมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคาดว่าจะได้รับการชดเชยแค่จิ๊บจ๊อยไม่เกิน 25-30% ของเงินลงทุนเท่านั้น ดังนั้น หากท้ายที่สุดแล้ว 7 รายที่คืนใบอนุญาตได้เงินเยียวยาจากการคืนใบอนุญาตในครั้งนี้ไป ก็หวังว่า อานิสงส์ของเม็ดเงินเยียวยาที่รัฐจ่ายลงไปนั้นคงจะลงไปถึงผู้ปฏิบัติงานสื่อและผู้ปฏิบัติงานที่ต้องตกงานในครั้งนี้กันอย่างสมน้ำสมเนื้อ
ไม่ใช่ถูกนายทุนเจ้าของกิจการกอดเอาไว้เหมือนที่มีข่าวซ่านกระเซ็นเล็ดลอดออกมาก่อนหน้า